การขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 3 เป็นปัญหาคาราคาซังที่ยืดเยื้อมานาน

จนวันนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า ควรขยายต่อเติมอาคารผู้โดยสารออกไปจากด้านข้างของอาคารผู้โดยสาร 1 (Terminal 1) คือด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก

หรือจะไปสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ ในที่ดินสำรองที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A ซึ่งเป็นของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) อยู่แล้ว

ทั้งนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการวางแผนแม่บทมาตั้งแต่ปี 2536 ประกอบไปด้วยอาคารผู้โดยสาร (terminal) 2 อาคาร ทางวิ่ง (Runway) 4 ช่องทาง เป้าหมายคือรองรับผู้โดยสาร 100 ล้านคนต่อปี และมีการปรับแผนแม่บทมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 2546 มาจนถึงปี 2559-2561 ยังคงให้มีทางวิ่ง 4 ทาง แต่เพิ่มอาคารผู้โดยสารเป็น 3 อาคาร ตั้งเป้าให้รองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี

การปรับปรุงแผนแม่บทควรทำทุกระยะ 5 ปี หรือตามความจำเป็น ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการ คือ

1. เป็นไปตามกฎระเบียบ และคู่มือขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ACI)

2. ความสามารถในการให้บริการผู้โดยสาร และสายการบิน

3.ประสิทธิภาพของการใช้พื้นที่ และการปฏิบัติการ

มีความเห็นที่น่าสนใจจาก คุณสิงห์ชัย ทุ่งทอง กรรมการสภาสถาปนิก อดีต ส.ว.อุทัยธานี ซึ่งเคยเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภามาหลายปี ที่มองเห็นความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิมานาน ดังนั้นควรรีบดำเนินการโครงการนี้ให้เสร็จโดยเร็ว

ไหนๆจะต้องลงทุนแล้ว ก็ควรทำให้ดีไปเลย เพราะถือเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่ม

...

และตามคำแนะนำของ ICAO ตามมาตรฐานการออกแบบสนามบิน ไม่แนะนำให้ต่อเติมอาคารผู้โดยสารที่ถูกใช้งานเต็มความสามารถ โดยแนะนำให้ใช้ที่ดินสำรองที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า มาสร้างเป็นอาคารเทียบเครื่องบิน (Concourse) อาคารผู้โดยสาร (Terminal)

ถึงแม้ว่าการต่อเติมอาคารผู้โดยสารเดิม (ซึ่งมาตรฐานการออกแบบสนามบินไม่แนะนำ เนื่องจากอาคารเดิมมีการใช้งานเต็มประสิทธิภาพแล้ว) จะลงทุนน้อยกว่า คือประมาณ 13,560 ล้านบาท แต่ได้พื้นที่ใช้สอย 132,000 ตารางเมตร

ขณะที่การสร้างบริเวณพื้นที่สำรองตามคำแนะนำของ ICAO จะลงทุนประมาณ 42,000 ล้านบาท แต่ได้พื้นที่ 348,000 ตารางเมตร

สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้มากกว่าหลายเท่าตัว และเหมาะสมในการลงทุนมากกว่า

ขณะที่ผู้คัดค้านอาจมองว่าเป็นการใช้เงินลงทุนที่สูง อาจมีเรื่องของ “หัวคิว-ใต้โต๊ะ” และเอื้อกลุ่มทุนบางส่วน ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายตรวจสอบ รวมถึงภาคประชาชนที่จะต้องร่วมกันจับตามอง ให้ AOT ดำเนินการด้วยความโปร่งใส รัดกุม และเป็นไปตามระเบียบราชการ

เราไม่ควรปล่อยโอกาสของประเทศทิ้งไปเปล่าๆ.

เพลิงสุริยะ