นายกฯ ร่ายยาว ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 กรอบวงเงิน 3.2 ล้านล้าน ย้ำคำนึงผลประโยชน์ประเทศชาติ-ประชาชน ฝาก ส.ส.ทุกคนดูรายละเอียดโหวตหนุนร่าง ย้ำงบกลางใครขอต้องชง ครม.ไฟเขียว

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.62 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวชี้แจงเหตุผลของการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2563 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อ ส.ส.มีวัตถุประสงค์เพื่อให้งบประมาณของแผ่นดิน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ให้ประสบความสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สามารถพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.7-3.2 ชะลอตัวจากร้อยละ 4.1 ในปี 2561 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการลดลงของการส่งออกและการชะลอตัวของการท่องเที่ยว  

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทั้งด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2562 ยังมีแนวโน้มในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.2 ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำหรับเศรษฐกิจในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวช่วงร้อยละ 3-4 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโกล และระบบการค้าโลก รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น   

...

นายกฯ กล่าวต่อว่า การจัดทำงบประมาณฯ ปี 2563 มีแนวทางมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมกับสร้างความเข้มแข็งและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 200,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยมีประมาณการรายได้สุทธิ จำนวน 2.731 ล้านล้านบาท และกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าว ยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบกับวินัยและฐานะการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว   

ทั้งนี้ ได้กำหนดรายจ่ายประจำไว้จำนวน 2,392,314.4 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,805.7 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท ขณะเดียวกันโครงสร้างงบประมาณฯ ปี 2563 จำแนกเป็น 7 กลุ่มงบประมาณ คือ 1. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายงบกลาง กำหนดไว้เป็นจำนวน 518,770.9 ล้านบาท 2. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ กำหนดไว้ 1,131,765.3 ล้านบาท  3. กลุ่มงบประมาณจ่ายบูรณาการ จำนวน 235,091 ล้านบาท 4. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 777,267.6 ล้านบาท 5. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายทุนหมุนเวียน จำนวน 202,268.6 ล้านบาท 6. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 272,127.1 ล้านบาท และ 7. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท  

ขณะที่ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณดังกล่าวประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ซึ่งได้มีการจัดสรรงบประมาณไว้จำนวน 428,190.6 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคง โดยมุ่งเน้นการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การสร้างความมั่นคงความปลอดภัย และความสงบสุขของประเทศ การสร้างบทบาทของไทยในอาเซียนและเวทีโลก รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ตนยืนยันว่างบประมาณดังกล่าวไม่ใช่อยู่ที่กระทรวงกลาโหมเท่านั้น 2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 380,803.1 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างยั่งยืน สมดุลและมีเสถียรภาพ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การพัฒนาผู้ประกอบการ 3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 571,073.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคนไทยในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดี 4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 765,2094 ล้านบาท เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 118,700.2 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาทรัพยากรและการรักษาสิ่งแวดล้อม และการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและการระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 504,686.3 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส รับผิดชอบและตรวจสอบได้ ปรับขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสมกับภารกิจ การปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัย เสมอภาค เป็นธรรม มีความเป็นสากล ตลอดจนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส รวดเร็ว และทั่วถึง 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับรายการค่าดำเนินการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณฯ ไว้จำนวน 431,336.6 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รายจ่ายงบกลาง จำนวน 96,500 ล้านบาท มีขึ้นเพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงและภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ ตลอดจนชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพงานก่อสร้าง การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 272,127.1 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 182,956.7 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงิน รวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลัง รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว

"รัฐบาลเชื่อมั่นว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นถึงเจตนาของรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณ เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศในทุกด้าน บนหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระยะ 20 ปี ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า การใช้จ่ายงบกลาง ประกอบด้วย เงินเบี้ยหวัด เงินบำเน็จบำนาญข้าราชการ เงินเดือนข้าราชการ เงินสำรองสมทบและชดเชยของข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ ซึ่งการใช้งบประมาณตรงนี้ต้องมีการจัดทำแผนงานโครงการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ไม่ใช่ตนจะให้ได้เลย และตนขอย้ำว่าเงินตรงนี้มีไว้สำหรับการใช้ในเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ เช่น การใช้แก้ปัญหาเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทั้งนี้การใช้จ่ายงบกลางเป็นแบบนี้ ขอให้เข้าใจด้วย งบเร่งด่วนน้ำท่วมอะไรต่างๆ มีบางคนพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนได้ยินบางคนพูดว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เอาเถอะ คงหูแว่วหรือฝันไปก็ไม่รู้

นายกฯ กล่าวอีกว่า อยากจะฝาก ส.ส.ทุกคนว่าขอให้ศึกษารายละเอียด แต่อย่าศึกษาเฉพาะประเด็นที่จะสร้างความไม่เข้าใจต่อกัน อย่าดูเฉพาะยอดวงเงินของกระทรวงนั้นๆ ยกตัวอย่างที่ไปดูว่างบประมาณกระทรวงศึกษาธิการว่าทำไมถึงน้อยลง ก็เพราะเอาไปเพิ่มให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งนี้ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติจะให้การสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้เพื่อที่รัฐบาลจะยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ให้เกิดประโยชน์แก่ชาติและประชาชนต่อไป ซึ่งการทุจริตก็เป็นอีกเรื่องไปตรวจสอบกันมา มีองค์กรต่างๆ ทั้งหมดที่ตรวจสอบ ซึ่งก็มีการตรวจสอบมาอย่างนี้ 5 ปี รัฐบาลที่ผ่านมาหรือรัฐบาลสมัยก่อนก็โดนทั้งนั้น แต่ชี้แจงได้ก็จบ ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย เจตนาของตนไม่ได้จะทำอะไรเพื่อใคร ทั้งนี้ถ้าความมั่นคงไม่เกิดขึ้น ความมีเสถียรภาพไม่เกิด เศรษฐกิจก็จะพัฒนาไม่ได้ ตนหวังว่าจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์ ที่รัฐบาลจะสามารถทำงานให้ ส.ส.ได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้ปล่อยมุกสอบถาม ส.ส.ว่า ดีมั้ยครับ ดีนะตรงกลางพอได้ไหม ทางซ้ายโอเคนะครับ เราคนไทยด้วยกัน โครงการทั้งหมดก็ลงพื้นที่ของท่านไม่มีที่ไม่ลงไป อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ถ้าไม่เขียนแบบนี้ก็เป็นแบบเดิม ก็ทำมากทำน้อยตรงไหนก็แล้วแต่ ไม่ต้องพูดตรงนี้โอเคมั้ยจ๊ะ เดี๋ยวผมขอไปพักคอนิดนึงในห้องรับรองตรงนี้ ใครจะพูดถึงผมก็พูดไปเลยนะครับ ผมฟังข้างนอกนี้ก่อน ขอพักสักครู่"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง