"สุวิทย์ เมษินทรีย์" รมว.การอุดมศึกษาฯ เตือน รับมือ 7 ปัจจัยเสี่ยง “สึนามิดิจิทัล” เชื่อ 3-5 ปี ข้างหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกมหาศาล ทำให้เห็นโอกาสและการปรับตัว
วันที่ 24 ก.ย. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเตือนคนไทยให้เตรียมรับมือ “สึนามิดิจิทัล” ในยุคโลกป่วนว่า ยุคนี้คือยุค “โลกป่วน” หรือดิสรัปชั่น (Disruption) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดิสรัปต์ (Disrupt) ที่เกิดจากเทคโนโลยี ซึ่งท้ายที่สุดมันก็จะกลับมาดิสรัปต์พฤติกรรมของคนภายใต้โลกใหม่นี้เอง และตนเชื่อว่า ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกมหาศาล ประเด็นสำคัญ คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง หรือป่วนลักษณะนี้เกิดขึ้นมา เราจะมองให้เป็นโอกาสและมีการปรับตัวให้สามารถอยู่กับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรได้บ้าง ซึ่งการเตรียมการรับมือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกับ 7 ปัจจัยเสี่ยง “สึนามิดิจิทัล” ที่ท้าทายการพัฒนาคน และจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง คือ
...
1. การปรับเปลี่ยนของอาชีพ (Career Migration) เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา บางอาชีพอาจจะหายไป จึงทำให้คนในยุคนี้ต้องเน้นการเพิ่มทักษะ ปรับเปลี่ยนทักษะ หรือพัฒนาทักษะใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา
2. การเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีการจ้างงาน (Jobless Growth) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนระบบดิจิทัล หรือข้อมูล ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
3. ความแตกต่างทางด้านทักษะ (Skill Divide) คนที่มีทักษะจะถูกแบ่งออกมาเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน คนที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล และเทคโนโลยี (High Tech) และคนที่มีทักษะด้านบริการ และไม่มีทักษะทางด้านดิจิทัล (High Touch) ทำให้ต้องมีการหางานที่สอดคล้องกับทักษะของคนทั้งสองกลุ่มนี้
4. เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งคนเก่ง (Competing for Talents) สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานทั่วโลกจะพยายามดึงดูดคนเก่งให้เข้าไปเรียน หรือทำงานอย่างรุนแรง ดังเช่นที่ว่า “ถ้าเก่งจริง เดี๋ยวก็มีคนมาซื้อตัว”
5. การใช้ชีวิตที่หมุนเวียน (Multistage Life) จากแนวคิดที่ว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของคนจะเริ่มจากการเรียน (Learning) จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่การทำงาน (Working) และจึงใช้ชีวิต (Living) ตามลำดับ แต่ในอนาคตการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตของคนหนึ่งคน จะวนเวียนอย่างต่อเนื่อง คนสูงอายุก็จะมาเรียนรู้ใหม่ หรือคนที่ทำงานไปแล้วก็อาจใช้ชีวิต และกลับมาทำงานใหม่ได้
6. การลงทุนในทรัพยากรทางด้านปัญญา (Intellectual Capital Investment) ปัญญาหรือคนถือเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด ต่อไปการวางแผนแรงงาน และการวางแผนแรงงานปัญญา (Manpower and Brainpower Planning) จะมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการทำงานอย่างมาก
และ 7. อาชีพแห่งอนาคต (Career for the Future) การพัฒนาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จะนำมาสู่อาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคตมากมาย เช่น นักวิทยาศาสตร์ทางด้านข้อมูล หรือวิศวกรทางด้านปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาคนข้างต้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของการปรับกระบวนการทำงาน ต่อไปเราจะทำงานแบบเก่งคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ และทำงานแบบเครือข่าย เพื่อมาร่วมกันพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ซึ่งตนขอเสนอแนวคิดที่เรียกว่า NEA ในการมาปรับใช้ในการทำงาน N มาจาก Nobody owns หรือไม่มีใครเป็นเจ้าของ E มาจาก Everybody can use it หรือทุกคนสามารถใช้ได้ และ A มาจาก Anybody can improve it หรือทุกคนสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ แนวคิดนี้นับว่า เป็นแนวคิดพื้นฐานของการสร้างระบบนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่สามารถให้คนทั่วไปมาร่วมรังสรรค์นวัตกรรมกันได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ คือหลักคิดพื้นฐานของไทยแลนด์ 4.0 และการที่เราจะนำพาประเทศก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแท้จริงนั้น ก็ต้องเริ่มจากการ “ปฏิวัติความคิด ปฏิรูปตนเอง” ของแต่ละบุคคลก่อน ต้องมองไปข้างหน้า กล้าคิด กล้าเสี่ยง แล้วลงมือทำเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่า และท้ายที่สุดจะนำมาสู่การรังสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ เพราะการเปลี่ยนแปลง สิ่งท้าทาย หรือความปั่นป่วนจะวิ่งเข้ามาหาเรามากขึ้น ถ้าเราไม่เปลี่ยน คนอื่นก็จะมาเปลี่ยนเราเองในที่สุด