นายกฯ บอก คมนาคม แถลงจัดระเบียบรถตู้ 21 ส.ค.นี้ แจง ขยายเวลาปิดสถานบันเทิงยังเป็นแค่แนวคิด เตรียมบินประชุม UN 21-28 ก.ย.เน้นย้ำศึกษา “โค้ดดิ้ง”

วันที่ 20 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงนโยบายการจัดระเบียบรถตู้สาธารณะ ภายหลังกระทรวงคมนาคมยืดอายุการใช้งานเป็น 12 ปี และไม่ได้บังคับให้เปลี่ยนเป็นรถมินิบัส ว่า กระทรวงคมนาคม จะแถลงความชัดเจน วันที่ 21 ส.ค.นี้ ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบก กำลังพิจารณาและอยู่ระหว่างฟังความคิดเห็นของประชาชน ยังไม่ได้สรุปอะไรออกมา สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ รัฐบาลต้องคำนึงถึงความปลอดภัยการเดินทางของประชาชน ผู้ใช้บริการ เรื่องนี้มองกันคนละอย่าง มุมหนึ่งต้องการต่ออายุ อีกมุมต้องการความปลอดภัย ฉะนั้น ไม่ใช่คนใช้บริการรถตู้เท่านั้น ผู้ประกอบกิจการจะต้องมีการตรวจสอบคนขับรถตู้ก่อนให้บริการ เท่าที่ทราบมีการจัดจุดเช็กความเร็วตามจุดต่างๆ อยู่แล้ว 

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีแนวคิดของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในการขยายเวลาปิดสถานบริการยามค่ำคืน ว่า เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิด ยังไม่มีการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดเข้ามาให้ ต้องคอยดูอีกครั้งว่า มีผลดี ผลเสีย มากน้อยกว่าเดิมแค่ไหน และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ อาจมีการมองต่างมุมในเรื่องนี้ ทั้งเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย และเรื่องการท่องเที่ยวที่วัยรุ่นมาเที่ยวกันเยอะ ในขณะนี้ก็ต้องระมัดระวังด้วย

นายกฯ และ รมว.กลาโหม ยังเปิดเผยอีกว่า ระหว่าง วันที่ 21-28 ก.ย. จะเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 74 (UNGA 74) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะมีภารกิจพบคนไทยในสหรัฐอเมริกา ร่วมประชุมสหรัฐอเมริกา-อาเซียน และภารกิจต่างๆ อีก 3-4 อย่าง จึงต้องเดินทางไปหลายวัน รวมถึงจะพบปะ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ด้วย เป็นการเดินทางไกลถึง 8 วัน ตนจึงแจ้งให้ทราบไว้ก่อน พร้อมกล่าวติดตลกว่า “อย่าคิดถึงผม”

...

นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญวันนี้ที่ตนอยากจะเน้นคือเรื่องการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ "โค้ดดิ้ง" ที่มีความสำคัญต่อเด็ก ตนเน้นย้ำครูระดับอนุบาลให้สร้างกระบวนการคิดให้เด็กตั้งแต่เล็กๆ เมื่อโตขึ้นก็ถ่ายทอดชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ว่าใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ซึ่งตอนนี้มีอยู่ในหลักสูตรภาคบังคับ จะต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับเด็กประถม มัธยม และระดับอุดมศึกษาด้วย และไม่ใช่ว่าจะต้องไปจัดหาคอมพิวเตอร์อะไรมากมาย เพราะในปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์อยู่แล้ว และใช้ระบบคล้ายๆ กันก็สามารถประยุกต์มาใช้งานด้วยกันได้ ซึ่งโค้ดดิ้ง เป็นภาษาที่มีสูตรเฉพาะของตัว ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดทักษะคณิตศาสตร์ มั่นใจในการแก้ปัญหา สิ่งต่างๆเหล่านี้ เราต้องเสริมสร้างคนรุ่นใหม่ให้ได้โดยเร็ว รวมถึงรุ่นเก่าอย่างพวกตนที่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่านำใช้ในการสร้างความไม่ชอบกันเกลียดชังในโซเชียลมีเดียอย่างในเวลานี้