คณะทำงาน รมว.พาณิชย์ ออกโรงโต้ "กอร์ปศักดิ์" ถึงมาตรการแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ ย้ำทำไปมากกว่าที่เสนอมาอีก ขอให้เชื่อมั่น "จุรินทร์" จัดการได้ มั่นใจราคาผลไม้ ปี 62 มีเสถียรภาพ-เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน

เมื่อวันที่ 11 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ โพสต์เฟซบุ๊กเสนอแนะกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ถึงมาตรการทางการตลาดผลไม้ โดยเสนอให้ไปรษณีย์ไทยส่งผลไม้ไปสาขาทั่วประเทศ และวางขายหน้าสำนักงาน อีกทั้งยังกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ควรรอให้ถึงฤดูผลผลิตออกแล้วค่อยคิดแก้ไขปัญหา

โดย ดร.สรรเสริญ สมะลาภา รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคณะทำงาน รมว.พาณิชย์ ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งบริหารจัดการเรื่องผลไม้ไปนานแล้ว และได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาครัฐและเอกชน 44 หน่วยงาน ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่ นายกอร์ปศักดิ์ จะแสดงความเห็นหลายวัน ซึ่งมาตรการนั้นครอบคลุมสิ่งที่เสนออยู่แล้ว และไปไกลกว่านั้นมาก

...

ดร.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า 1.พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ได้ส่งกล่องขนาดต่างๆให้กับเกษตรกร เพื่อบรรจุผลไม้ไว้จำหน่าย และสนับสนุนค่าขนส่งตั้งแต่แหล่งผลิต และจุดรวบรวมไปยังจุดจำหน่าย 2.จัดหาช่องทางจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้แก่ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ร้านธงฟ้าประชารัฐ ตลาดต้องชม สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย สถานบริการน้ำมันเช่น ปตท. ที่รับซื้อผลไม้เพื่อนำไปวางจำหน่ายใน 1,800 สาขา บางจาก และพีที ที่รับซื้อผลไม้จากกลุ่มสหกรณ์ เพื่อไปวางจำหน่ายในกว่า 1,750 สาขา เป็นต้น 3.ช่วยเหลือด้านน้ำหนัก สำหรับผู้โดยสารเครื่องบินที่ต้องการขนผลไม้ โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม โดยสายการบินไทยสไมล์ นกแอร์ แอร์เอเชีย และบางกอกแอร์เวย์ ขณะที่ท่าอากาศยาน 28 แห่งทั่วประเทศ จะสนับสนุนกล่องที่จะบรรจุผลไม้

4.ผลักดันการส่งออก โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการล้งไทย ที่ต้องการส่งผลไม้ไปต่างประเทศ ถ้ากู้เงินจากสถาบันการเงิน จะช่วยเหลือด้านภาระดอกเบี้ยอัตรา 3% 5.จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อจำหน่ายผลไม้ โดยมีเป้าหมายขยายตลาดใหม่ไปอินเดียและตะวันออกกลาง ภายหลังที่ประสบความสำเร็จจากการซื้อขายร่วมกับจีน และ 6.เร่งการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะทุเรียนเพื่อป้องกันกลิ่น ให้สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ และเพื่อถนอมอาหารลดความสูญเสีย ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการจัดการผลไม้ อีกทั้งจัดทำมาตรฐานการจัดการของศูนย์คัดแยกคุณภาพ (Agricultural Grading Quality Center : AGQC) อาทิเช่น มาตรฐานคุณภาพ การคัดแยกคุณภาพ การบรรจุภัณฑ์ และการตรวจสอบสารพิษตกค้าง เป็นต้น โดยมีระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและผู้ค้าที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตคุณภาพ และศึกษาช่องทางการตลาด พฤติกรรมการบริโภค และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยในต่างประเทศ

ดร.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นอกจาก MOU 6 ข้อแล้ว ยังได้ส่งเสริมการขายมังคุดภาคใต้ผ่านตลาด Online ซึ่งบริษัทไปรษณีย์ไทยจะเป็นผู้จัดส่งแบบ Door to Door โดยไม่คิดค่าบริการจัดส่ง ส่วนในด้านการส่งเสริมการบริโภค ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน วางแผนให้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์การบริโภคผลไม้ภาคใต้ และกิจกรรมรณรงค์บริโภคสินค้า ณ หัวเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว 4 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา รวมถึงการนำผลไม้ไทยไปโรดโชว์ยังต่างประเทศ

"โดยมาตรการดังกล่าว เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อบริหารด้านการตลาด ให้แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ที่จะออกผลผลิตในช่วงปลายปี 62 นี้ เพื่อกระจายผลผลิต 20,000 ตัน จากแหล่งผลิตไปจำหน่ายช่องทางต่างๆ มั่นใจว่าจะสามารถจัดการและดูแลราคาผลไม้ให้มีเสถียรภาพขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นได้แน่นอน" ดร.สรรเสริญ กล่าว