“กนกวรรณ” ลุยรับฟังปัญหาโรงเรียนเอกชน แม่ “น้องเก้า” เด็ก ม.6 ถูกช่างกลแทงดับ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมทั้งน้ำตา หลังวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพปล่อยปัญหาเกิดซ้ำซาก

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมคณะทำงาน เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนลาซาล บางนา เพื่อดูการบริหารจัดการของโรงเรียนเพื่อให้เป็นสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จและอยู่รอด เมื่อเดินทางมาถึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคณะภราดา ซิสเตอร์ ผู้บริหาร ครูและนักเรียน พร้อมกันนี้ นางกนกวรรณ ได้รับฟังปัญหาของคณะครูที่ต้องการให้กระทรวงศึกษาให้การช่วยเหลือด้วย

การลงพื้นที่โรงเรียนลาซาล ได้มีการหารือกันและรับฟังปัญหาของทางโรงเรียนที่สะท้อนมา อาทิ เรื่องภาษีโรงเรือนที่โรงเรียนเอกชนจะต้องชำระ ซึ่งเป็นภาระที่หนักสำหรับโรงเรียนเอกชนที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสวัสดิการครูเอกชน เรื่องความมั่นคงของชีวิต ค่ารักษาพยาบาล คุณภาพของครูที่จะมาสอนนักเรียนน่าจะได้รับการพัฒนาให้ดีกว่านี้ เรื่องใบประกอบวิชาชีพ เงินกู้ ช.พ.ค. โดยเรื่องที่ได้รับวันนี้ขอให้ทางโรงเรียนทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรส่งไปยังกระทรวงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำปัญหาไปประมวลและแก้ไข

ส่วนเรื่องมาตรการแก้ปัญหานักเรียนโรงเรียนเอกชนตีกัน ขอให้ใจเย็นๆ กำลังหารือกันเพื่อหาทางออกให้เร็วที่สุด ขณะที่เรื่องเงินอุดหนุนรายบุคคลโรงเรียนเอกชน ทางกระทรวงศึกษาจะหารือกันเพราะเป็นเรื่องสำคัญ และที่ผ่านมามีหลายองค์กรมาหารือแล้ว จะมีการตั้งคณะทำงานจะเชิญผู้เกี่ยวข้องจากโรงเรียนเอกชนมาร่วมด้วย เพื่อให้ปัญหาเกาถูกที่ 


ทั้งนี้ ภายหลังพบปะคณะผู้บริหารโรงเรียนแล้วเสร็จ นางสุภารัตน์ แสงอรุณ มารดา นายกลมฉัตร แสงอรุณ หรือ น้องเก้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนโรงเรียนปทุมคงคา ที่ถูก นายมานิตย์ ศรีหาจันทร์ นักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ ทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธมีดและเสียชีวิตในเวลาต่อมา บนรถเมล์สาย 180 ระหว่างทางกลับบ้านหลังจากสอบวัดความถนัดทั่วไป (GAT) ที่โรงเรียนบางปะกอก ซึ่งอีก 3 วันจะเรียนจบชั้น ม.6 เดินทางเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางกนกวรรณ เพื่อร้องขอความเป็นธรรม และขอให้มีมาตรการกับการใช้ความรุนแรง โดย นางกนกวรรณ ระบุว่าไม่นิ่งนอนใจ และจะเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยนางสุภารัตน์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ลูกถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ปัจจุบันทางวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ ยังไม่มีมาตรการจัดการเหตุการณ์ความรุนแรง ยังคงปล่อยให้เกิดเหตุความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะความเป็นเยาวชนความผิดฐานลงโทษจึงเบา ไม่ก่อให้เกิดความเกรงกลัว

...

จากนั้น นางกนกรรณ เดินทางต่อไปยังวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ โดยมีคณะผู้บริหารโรงเรียน ตำรวจในพื้นที่ร่วมประชุมหารือเพื่อหาทางออกกรณีนักเรียนตีกัน โดย นางกนกวรรณ ถามผู้บริหารวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพว่า กรณีที่นักเรียนของวิทยาลัยนี้ได้ทำร้ายน้องเก้าจนเสียชีวิต และมีการเยียวยาอย่างไรกับทางครอบครัวผู้เสียหาย รวมถึงมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก ซึ่งกรณีนี้ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาเรียบร้อยและได้เยียวยาให้มารดาผู้เสียหาย.