เต้ ‘มงคลกิตติ์’ ลงพื้นที่มหาสารคาม รับฟังปัญหาฝนทิ้งช่วง ข้าวยืนต้นตายกว่า 30-40% ชงโครงการ ‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ แก้ปัญหาได้จริง ยามน้ำแล้ง

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวถึงการลงพื้นที่แก้ไขปัญหาของประชาชนว่า ตนและทีมงานพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้ลงพื้นที่รับทราบปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่น้ำแล้ง ซึ่งเป็นความเดือดร้อนจากพี่น้องประชาชนชาวเกษตรกรปลูกข้าว หมู่ 7 ต.เลิงใต้ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งขณะนี้ เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว มีความเดือดร้อน เนื่องจากข้าวในนาขาดน้ำมากว่า 2 เดือนแล้ว เริ่มแห้งตายไปกว่า 30-40% แล้ว

นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า จากการรับฟังข้อมูลของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนได้ตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูล พอสรุปได้ดังนี้ คือ

1. ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ฝนจะทิ้งช่วง ปลายเมษายนถึงสิ้นกรกฎาคมของทุกปี

2. น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ฯ ช่วงปลายเมษายน 2562 มีอยู่ 73% และ ช่วง 20 กรกฎาคม 2562 เหลือ 23% เขื่อนอื่นๆ ในภาคอีสาน จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อยตามลำดับ เนื่องจากฝนขาดช่วง

...

3. ช่วงสิงหาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี จะมีฝนตกชุก พายุเข้า น้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วม น้ำเต็มเขื่อน เป็นปกติธรรมชาติ

4. หลังจากน้ำหลาก ทุกเขื่อนจะปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างเต็มที่ ไม่ค่อยกักไว้ใช้ยามน้ำขาด หรือปล่อยมากเกินไป อีกอย่างก็คือ ห้วย บึง หนอง คลอง ตาม ตำบล อำเภอ จังหวัดต่างๆ ไม่มีการขุดให้ลึก เกิดการตื้นเขิน หรือมีงบขุดแต่ทุจริตกันมาก ดังนั้น วิธีการแก้ไขระยะยาว ใช้งบประมาณประหยัด ช่วยเหลือประชาชนจนสำเร็จ คือ การทำธนาคารน้ำใต้ดิน แก้ปัญหา น้ำแล้ง-น้ำท่วม สามารถทำสำเร็จที่อำเภอน้ำยืน จ.อุบลราชธานี และที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จนน้ำลดกะทันหัน สามารถช่วย 13 หมูป่าออกมาได้

5. จุดสำคัญ ช่วงฤดูน้ำหลาก เราไม่ควรปล่อยน้ำจนเต็มที่ ควรเก็บน้ำไว้ตามเขื่อนต่างๆ สัก 90% ของปริมาณน้ำเต็มเขื่อน น้ำที่ปล่อยออกช่วงน้ำหลากไปควรเก็บไว้ตาม ห้วย หนอง คลอง บึง แต่น้ำก็ยังไม่พอใช้ช่วง 2 เดือนครึ่ง ควรทำธนาคารน้ำใต้ดินเก็บน้ำไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ไว้ดึงน้ำมาใช้ตอนฝนขาดช่วง 2 เดือนครึ่ง

“ส่วนฝนเทียมนั้นก็เป็นอีกวิธีที่ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนปัจจุบันที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังดำเนินการอยู่ แต่ถ้าผ่านถึงช่วง กลางเดือนสิงหาคม 2562 ฝน พายุ น้ำหลาก ก็จะเริ่มเข้าภาคอีสาน พื้นที่เกษตรก็จะเสียหาย ต้องมาจ่ายค่าชดเชยรายไร่อีก ก็เป็นงบจากภาษีประชาชนอีก ซึ่งเราสามารถจัดการให้ความเสียหายให้น้อยลงไปได้กว่า 70% ถ้าเราแก้ไขเป็นมองภาพรวม และไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้ จากการประกาศภัยพิบัติ น้ำแล้ง-น้ำท่วม ในการทุจริตงบดังกล่าว ปัญหาก็จะน้อยลง จึงเรียนสรุปมาให้ทราบเบื้องต้น” นายมงคลกิตติ์ กล่าว...