สุนทร รักษ์รงค์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ปูดเหตุยางตก จี้รัฐตรวจสอบ 5 เสือ ส่งออกถูกจีนซื้อเป็นนอมินี พบ 5 ปัจจัยเสี่ยงกระทบราคายางพารา


วันที่ 9 ก.ค.2562 นายสุนทร รักษ์รงค์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อราคายางพารา เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาล และรมว.เกษตรฯ คนใหม่ ว่า ในที่ประชุมสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ (ITRC) เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ได้ปรับปรุงข้อมูลผลผลิตยางปี 2561 โดยระบุผลผลิตยางพาราของไทย มี 4.879 ล้านตัน อินโดนีซีย 3.630 ล้านตัน และมาเลเซีย 0.603 ล้านตัน ส่วนสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ที่มีสมาชิกจาก 7 ประเทศ คาดการณ์ผลผลิตยางของโลก ในปี 2562 จำนวน 14.07 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ยางของโลก มีจำนวน 14.325 ล้านตัน ถือว่าไม่โอเวอร์ซับพลาย หรือไม่เกินความต้องการใช้ของตลาดโลก

ทั้งนี้ ทิศทางการส่งออกยางของไทย ยางแท่ง (STR20) ซึ่งใช้ยางก้อนถ้วย (cup lump) เป็นวัตถุดิบจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ของยางที่ส่งออก ที่เหลือเป็นน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควันอีก 30% แต่จากปัญหาเรื่องแรงงานทำให้การผลิตยางแผ่นดิบมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายว่ารัฐบาลจะทำให้ยางก้อนถ้วยมีราคาสูงขึ้นได้อย่างไร ซึ่งในอนาคตราคายางก้อนถ้วยจะชี้นำราคายางชนิดอื่น ส่วนผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลกอย่างรัฐวิสาหกิจของจีน ตอนนี้เข้ามาเทคโอเวอร์บริษัทผู้ส่งออกยางพาราของไทย หรือที่เรียกว่า 5 เสือส่งออก ต้องตรวจสอบข้อมูลว่าเวลานี้ ไทยเราเหลือเสือกี่ตัวที่ยังไม่ถูกซื้อเป็นนอมินี ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการกดราคายาง จากการผูกขาดตลาดยางของไทยโดยจีนในอนาคต ที่จะคล้ายๆ การกดซื้อลำไยและทุเรียน

...

นายสุนทร กล่าวต่อว่า พบว่ามี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อราคายางพาราของไทย คือ 1.ราคายางยังคงผันผวน จากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ราคาน้ำมัน และความถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นในขณะนี้ 2.การทุ่มตลาดของยางสังเคราะห์ (การใช้ยางสังเคราะห์ 60-90% จากปริมาณการใช้ยางทั้งหมด) ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของยางพาราลดลง 3.การควบคุมการส่งออกยางตามมติของสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) จำนวน 2.4 แสนตัน ภายใน 4 เดือน โดยไทยต้องรับผิดชอบ 126,240 ตัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ภายใต้มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออก (AETS)

4.ราคายางตลาดล่วงหน้าทั้งเซี่ยงไฮ้ (SHFE), TOCOM และ SICOM ส่งสัญญาณของราคาชะลอตัวลง เพราะเกิดการกดราคาโดยกลุ่มพ่อค้าส่งออกยาง และ 5.กลไกของรัฐบาลและการยางแห่งประเทศไทย กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน อาจไม่พร้อมกับการรับมือของปัญหาวิกฤติยางพาราไทย จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลเหล่านี้เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้น.