ไม่ใช่แบบยุคทักษิณ ล็อกซเล่ย์-พร้อมลุย
“บิ๊กตู่” ไฟเขียวฟื้น “หวยออนไลน์” ทำประชาพิจารณ์ มี ก.ม.รองรับ ชี้คนละเรื่องกับยุค “ทักษิณ” ได้เงินแล้วขาดการตรวจสอบ ไม่ส่งกลับคืนแผ่นดินนับแสนล้าน “พชร” ยันสลากฯ น้ำเต้า ปู ปลาเป็นแค่หนึ่งในข้อเสนอเท่านั้น ยังสรุปไม่ได้รอทำประชาพิจารณ์ก่อน ด้าน “ล็อกซเล่ย์” ประกาศพร้อมสานต่อโครงการหวยออนไลน์
กลายเป็นเรื่องฮือฮาในหมู่นักเล่นหวยสำหรับการปัดฝุ่นฟื้น “หวยออนไลน์” โดยที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อบ่ายวันที่ 25 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลาก) เตรียมเสนอบอร์ดสลาก ออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ผ่านระบบออนไลน์และแอปพลิเคชันมือถือ อาจมีรางวัลแจ็กพอตจูงใจสูงถึง 100 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหวยใต้ดินและขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแนวคิด เท่าที่ทราบกำลังศึกษาอยู่ ต้องทำประชาพิจารณ์หาข้อดีข้อเสีย แต่สิ่งที่เป็นกังวลคือ ทำไปแล้วคนจะเล่นหวยมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ถ้าทำแล้วเป็นการมอมเมาก็พูดยาก สื่อก็ยังถามเรื่องนี้ แล้วจะว่าตนมอมเมาได้อย่างไร
“ผมไม่เคยพูดหรือให้เบอร์ใครสักที ทะเบียนรถใช้มานานแล้วตั้งแต่ซื้อมา สื่อก็เป็นคนบอกเขาไปหมดจนคนที่เขาชอบเล่นบ่นมาว่าเสียดาย เจ้ามืออั้นหมดเลย แล้วผมจะไปรู้หรือไม่ เพราะไม่เคยซื้อหวยเลย ถ้ามีอันนี้ออกมาอีกจะเป็นการมอมเมาให้คนเล่นหวยมากขึ้นหรือเปล่า วันนี้หลายครอบครัวเสียหายจากการเล่นหวย พอผมไปแตะมากๆ ก็ว่าอีก ความสุขคนจน ฉะนั้นกฎหมายว่าอย่างไรก็ไปว่ากันตรงนั้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า มีการมองว่าเป็นการสานต่อโครงการหวยบนดินในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในอดีตมันคนละเรื่องกัน จะบอกว่าวันนี้จะย้อนกลับไปอดีต มันไม่ใช่ ไม่ได้ทำแบบในอดีต ในอดีตมีการฝ่าฝืนกฎหมาย วันนี้ถ้าจะทำต้องมีกฎหมาย กฎกระทรวงอะไรเยอะแยะมากมาย เดิมที่มันผิดเพราะนำเงินไปใช้โดยการขาดการตรวจสอบรู้บ้างหรือไม่ ไม่ส่งคืนรายได้กลับแผ่นดินเป็นแสนล้านบาท วันนี้ตนยังไม่ได้สักบาทยังไม่มีรายได้ ยังไม่ได้ทำด้วยซ้ำไป แล้วก็พูดกันไป เอาอันนี้ไปเทียบกับอันโน้น วันนี้โลกเปลี่ยนขึ้นเยอะ หากจะทำต้องดูว่าต้องทำอย่างไร ต้องทำประชาพิจารณ์มา
...
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลาก) กล่าวว่า กระแสข่าวว่าที่ระบุว่าบอร์ดสลากจะทำสลากรูปภาพหรือตัวหนังสือ ในลักษณะน้ำเต้าปูปลา แนวทางนี้เป็นเพียงแค่ข้อเสนอหนึ่ง ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งมีการเสนอรูปแบบเกมสลากใหม่ๆ ประมาณ 4-5 รูปแบบ อาทิ สลากลอตโต้ สลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว เป็นต้น รูปแบบเหล่านี้มีการศึกษามานานแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า จะออกสลากรูปแบบใด คาดว่าในการประชุมเดือนหน้าบอร์ดสลากจะเลือกรูปแบบสลากใหม่เพียง 1 รูปแบบ เพราะการออกสลากใหม่ต้องใช้เวลาดำเนินการตามกระบวนการต่างๆหลายขั้นตอน
“ผมไม่แน่ใจว่าทำไมคนถึงเข้าใจผิดเรื่องการทำสลากน้ำเต้าปูปลา ผมแค่พูดไปตามน้ำ พูดไปเล่นๆ ตอนนี้ต้องรอสรุปและทำประชาพิจารณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพราะการจะออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ จะส่งผลกระทบต่อคนหลายฝ่ายแน่นอน จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ”
ขณะที่นายสุรช ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เตรียมพิจารณาการออกสลากรูปแบบใหม่ อาทิ สลากออนไลน์ เลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว และสลากลอตโต้ ว่าบริษัทล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด หรือแอลจีที มีความพร้อมเต็มที่ในการสานต่อโครงการดังกล่าว หากบอร์ดสลากมีมติให้เดินหน้าต่อ และ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 น่าจะรองรับการทำสลากออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากสำนักงานสลากฯ ในส่วนของคดีความฟ้องร้องนั้น บริษัทได้อุทธรณ์สู่ศาลปกครองสูงสุด โดยขอให้ศาลสั่งให้สำนักงานสลากฯปฏิบัติตามสัญญา ขณะนี้คดีอยู่ในกระบวนการของศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ บริษัทมีความตั้งใจที่จะดำเนินการอย่างจริงใจ เพราะเชื่อว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเป็นการแก้ไขปัญหาจำหน่ายสลากเกินราคาได้อีกด้วย
“นักวิชาการจากหลายสถาบันยอมรับว่าสลาก ออนไลน์ส่งผลกระทบต่อสังคมบ้าง แต่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ รัฐบาลสามารถจัดระเบียบการซื้อขายแบบเดียวกับที่หลายๆประเทศดำเนินการ เช่น กำหนด อายุของผู้ซื้อ ต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี และต้องแสดงบัตรประชาชนทุกครั้งก่อนซื้อ รวมทั้งให้จำกัดสถานที่จำหน่ายไม่ใกล้วัด โรงเรียน และให้ความรู้เรื่องข้อดีข้อเสียของการซื้อสลากออนไลน์ให้แก่เยาวชนและประชาชน เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดปัญหามอมเมาอย่างที่หลายคนวิตกกังวล ขณะนี้ทุกประเทศในอาเซียนมีการจำหน่ายสลากออนไลน์กันหมดแล้ว ยกเว้นไทยและพม่า เพียง 2 ประเทศเท่านั้น เช่น สิงคโปร์ เริ่มจำหน่ายสลากออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2511 หรือ 51 ปีมาแล้ว แม้แต่ในมาเลเซียยังมีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในวงการลอตเตอรี่ ตั้งแต่ 31 ปีก่อน ส่วนเวียดนามมีระบบออนไลน์มา 22 ปีแล้ว แม้กระทั่ง สปป.ลาว ก็มีการจำหน่ายสลากออนไลน์แล้วเช่นกัน” นายสุรชกล่าว