อสัญกรรมของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาติ

ขณะที่ทราบข่าวนี้ตอนสายๆวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม กำลังอยู่ที่จังหวัดสงขลา บ้านเกิดของ ป๋าเปรม จึงได้พบเห็นสิ่งที่น่าประทับใจหลายประการ ที่ โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา สถานศึกษาเก่าแก่ที่ ป๋าเปรม เคยเรียนซึ่งกำลังเปิดรับมอบตัวเด็กนักเรียนและมีการประชุมผู้ปกครอง ทันทีที่ทราบข่าวทุกคนในที่นั้นต่างมีสีหน้าเศร้าหมองอย่างเห็นได้ชัด

ที่ พิพิธภัณฑ์พะทำมะรง สถานที่เกิดของท่านซึ่งเป็นบ้านพักเก่าแก่ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มีหน้าที่ควบคุมนักโทษในเรือนจำ และได้มีการปรับปรุงบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ มีผู้คนแต่งชุดดำมาชุมนุมกันรอบแล้วรอบเล่าท่ามกลางสายฝนในช่วงบ่ายเพื่อรอฟังข่าวว่าจะมีการจัดงานไว้อาลัยในรูปแบบใดบ้าง

ผู้คนในแต่ละบ้าน ร้านตลาด ต่างจับกลุ่มพูดคุยถึง พลเอกเปรม ด้วยความรักความอาลัย

นั่งรถผ่าน สนามกีฬาติณสูลานนท์ สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และสิ่งปลูกสร้างหลากหลายที่ใช้ชื่อใช้นามสกุลของท่านอย่างภาคภูมิ

ลงแพขนานยนต์ ที่หัวเขาแดง แล้วข้ามทะเลสาบสงขลา ไปบน สะพานติณสูลานนท์ อันสง่างาม สู่เกาะยอ แล้วข้ามสะพานอีกช่วงต่อไปยังอีกฝั่งเพื่อมุ่งหน้าไปหาดใหญ่ด้วยทางสายเดิม

นายอำเภอคนหนึ่งในจังหวัดสงขลาที่เป็นศิษย์เก่ามหาวชิราวุธและทำหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดยามที่ป๋ากลับมาสงขลาถึงกับน้ำตาตกเมื่อทราบข่าว

ทำให้คิดถึง นายพิศาล มูลศาสตรสาทร อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอนันต์ อนันตกูล อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบัญญัติ จันทน์เสนะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยรัตน์ เสถียร อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและอีกหลายคนในราชการฝ่ายพลเรือนที่เคยทำงานใกล้ชิดป๋าทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว

...

เช่นเดียวกับเหล่า ทหารลูกป๋า นับตั้งแต่ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พลเอกหาญ ลีนานนท์ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ พลเอกมงคล อัมพรพิสิษฐ์ พลเอกอู๊ด เบื้องบน พลเอกไพโรจน์ พานิชสมัย พลเรือเอกพะจุณณ์ ตามประทีป พลตรีจำลอง ศรีเมือง พลตรีมนูญ รูปขจร พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ฯลฯ ทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้วเช่นกัน

ผู้คนเหล่านี้คือสีสันรอบตัวป๋าเปรม ในแต่ละยุคสมัย

ความเป็น คนดีของแผ่นดิน ของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างมิต้องกังขานั้น เราจะทำอะไรเพื่อตอบสนองบุญคุณของท่านได้บ้าง

นอกจากการเดินตามรอยในการประกอบคุณงามความดีแล้วมีสิ่งหนึ่งซึ่งน่าที่จะช่วยกันผลักดันนั่นคือความจริงที่ว่าท่านจากไปด้วยอายุขัย 98 ปี 9 เดือน 1 วัน ซึ่งถ้าท่านมีชีวิตอยู่ต่อไปจะมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 26 สิงหาคม 2563 แต่เมื่อท่านล่วงลับจากไปแล้ว ดังนั้น วันที่ 26 สิงหาคม 2563 จะเป็นวันครบ 100 ปีแห่งชาตกาลของท่าน

ถึงแม้ว่าช่วงเวลาการดำเนินการยังเหลืออยู่ไม่นานนักแต่ชอบที่รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศจะต้องรีบเสนอเรื่องให้ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ประกาศยกย่องให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในโอกาสเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาล พ.ศ.2563.

“ซี.12”