หลังเสร็จจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มหามงคลของประเทศ การเมืองที่นิ่งสงบก็เริ่มกลับมาคึกคักอีกหน

โดยเฉพาะการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการที่ทุกฝ่ายเฝ้ารอแบบมาราธอน ด้วยความระทึก

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาตามนัด ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 คือ ไม่น้อยกว่า 333 เขต จาก 350 เขต

และวันนี้ 8 พ.ค. หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ขอให้ตีความ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่

หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 เกี่ยวกับการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่มีอะไรขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่กำหนดเรื่องเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยที่แต่ละพรรคจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ 1 คน

กกต.ก็จะประกาศผลจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคทันที

โดยใช้สูตรคำนวณตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ประเคนเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับบรรดาพรรคเล็กที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 7.1 หมื่นคะแนน โดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไป

หากออกมุมนี้ จะทำให้มีพรรคการเมือง 26 พรรคได้รับเก้าอี้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไปครอบครอง

โดยมีพรรคขนาดจิ๋วที่มีคะแนนเฉลี่ย ต่ำกว่าเกณฑ์ 7.1 หมื่นคะแนน ได้อานิสงส์ มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จำนวน 11 พรรค ได้แก่

พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชานิยม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทรักธรรม

จำชื่อกันแทบไม่หวาดไหว แต่ต้องจารึกไว้ เพราะนอกจากพรรคเหล่านี้ จะมี ส.ส.เข้ามานั่งชูคอในสภาฯแล้ว บางพรรคยังเตรียมอัปเกรด มีชื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกต่างหาก

...

เรียกว่าจิ๋วแต่แจ๋ว ไม่ธรรมดาเชียวนะคุณโยม!!!

แต่ขณะเดียวกัน หากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยชี้ขาดว่า มาตรา 128 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91

กกต.ก็ต้องงัดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กำหนดไว้สถานเดียว นั่นก็คือ ต้องใช้คะแนนเฉลี่ย 7.1 หมื่นคะแนน เป็นมาตรฐานในการคำนวณแจกเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ซึ่งก็จะทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับส่วนแบ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลดฮวบฮาบ เหลือแค่ 14 พรรค คือ

พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพลังชาติไทย

พรรคใดจะได้ ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ รวมกันทั้งหมดกี่ที่นั่ง คงต้องลุ้นกันปัสสาวะเหนียว

เพราะจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ของแต่ละพรรคสำคัญยิ่งยวดต่อการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลชัวร์ป้าด

“รัฐบาลลุงตู่ 2” ดิ้นหนีสภาพเสียงปริ่มน้ำได้หรือไม่ อีกอึดใจเดียวรู้ผล!!!

“พ่อลูกอิน”