การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ถ้าเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ป่านนี้จะต้องมีการประชุมรัฐสภานัดแรกไปเรียบร้อยแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกมาประชุมเป็นครั้งแรก หลังจากประชุมรัฐสภานัดแรก จากนั้นอาจมีการประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ประกาศผลช้าที่สุด ผ่านไปแล้วกว่าหนึ่งเดือน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังไม่มั่นใจ จะใช้สูตรไหนเพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หวังจะยึดศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่ง ศาลก็ไม่รับวินิจฉัย ผลของความล่าช้าและความไม่แน่นอนอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ความล่าช้าของการประกาศผลเลือกตั้ง ยังถูกซ้ำเติมด้วยความสับสน ความยุ่งอีนุงตุงนังจากการกล่าวหาร้องเรียน ทั้งในหมู่นักการเมืองด้วยกัน และระหว่างคนนอกกับนักการเมือง เช่นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ถูก คสช.แจ้งความกล่าวหายุยงให้เกิดความปั่นป่วน ตาม ป.อาญามาตรา 116 ซึ่งเป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ปี 2558 และถูก กกต.กล่าวหาขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. เพราะเป็นเจ้าของสื่อ

การกล่าวหานักการเมือง เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการสื่อมวลชน มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็น “สงครามที่ไม่รู้จบ” สามารถกล่าวหาและตอบโต้ซึ่งกันและกันได้ เพียงแต่ดูเอกสารเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนบริษัท ขณะนี้ก็มีการกล่าวหาตอบโต้กัน ระหว่างนักการเมืองต่างพรรค เช่นพรรคเพื่อไทยร้องเรียนผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น

ส่วนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการ กกต. แสดงท่าทีว่ายังดึงดัน จะใช้สูตรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจากพรรค การเมืองและนักวิชาการ เป็นสูตรที่อุ้มพรรคเล็กพรรคน้อย ที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 7.1 หมื่น ให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสภา รวมประมาณ 26–27 แต่อาจเป็นวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตามมติผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

...

เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ เห็นว่ามาตรา 128 ของกฎหมายการเลือกตั้งที่กำหนดวิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีปัญหา ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่กำหนดวิถีการคำนวณไว้ 5 อนุมาตรา แต่ กฎหมายเลือกตั้งเพิ่มเป็น 8 อนุมาตรา ขยายความนอกเหนือรัฐธรรมนูญ ทำให้การคำนวณ ส.ส.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ

แม้จะเป็นองค์กรอิสระ แต่มติของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ถือว่าเป็นเด็ดขาด และไม่ผูกพันรัฐบาลและองค์กรใดในรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจชี้ขาดเรื่องนี้ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ แต่มติผู้ตรวจการแผ่นดินอาจทำให้ กกต.ต้องชะลอการตัดสินใจจะใช้สูตรใด จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย อาจทำให้การประกาศผลเลือกตั้งล่าช้า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากรัฐธรรมนูญ และ กกต.มือใหม่.