จบแต่ยังไม่จบ...

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 ซึ่งประชาชนแห่ไปใช้สิทธิกันมากเป็นประวัติการณ์

นี่คือเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงแต่ใครจะเลือกใครอย่างไรก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะตัดสินใจอย่างไรเท่านั้น

ยังไม่ทราบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่มีการประเมินกันแล้วพอจะมองเห็นภาพการเมืองที่เกิดขึ้น

ก็คงจะไม่ต่างกับที่คาดคิดกันมาก่อนหน้านี้

แต่คงจะไม่เบี่ยงเบนไปมากเท่าใดนักก็คือผลสรุปว่าการตั้งรัฐบาลนั้นคงจะต้องเป็นพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค

คือเพื่อไทยและพลังประชารัฐ...

พรรคที่ 3 นั้นตัวเลขคงไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังและขึ้นอยู่กับว่าจะตัดสินใจอย่างไรทางการเมืองต่อไป

ปัญหาอยู่ที่ว่าพรรคที่ได้อันดับ 1 นั้นก็ต้องใช้ความพยายามให้มากที่สุดเพื่อจับขั้วการเมืองในการที่จะขับเคลื่อนทางการเมือง

ถือสิทธิการได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เมื่อได้เสียงมากที่สุดจึงเป็นความชอบธรรมที่จะดำเนินการได้

อยู่ที่ว่าจะรวบรวมเสียงได้หรือไม่?

อันดับ 2 ก็ถือสิทธิว่าหากสามารถรวบรวมเสียงได้มากที่สุดก็มีสิทธิที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ได้มีกฎหมายห้ามเอาไว้ เพราะการเป็นรัฐบาลคือต้องได้เสียงข้างมาก

ปัญหาอยู่ที่ว่าพรรคที่ 1 และ 2 นั้นสามารถที่จะรวบรวมเสียงได้มากกว่า และมีความจำเป็นที่จะมีเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งจากจำนวน 500 คนได้หรือไม่

จากการประเมินเสียงดูแล้วมีความเป็นไปได้ว่าคะแนนระหว่าง 2 ขั้วนี้ไม่น่าจะต่างกันมากนัก คือมีเสียงก้ำกึ่งกันมาก

นั่นแหละคือปัญหา...

เพราะหากเสียงก้ำกึ่งกันอย่างนี้ไม่ว่าขั้วไหนได้เป็นรัฐบาลก็จะเกิดปัญหาเพราะจะบริหารประเทศจะเป็นไปด้วยความลำบาก

ขั้วที่อยู่ในฝ่ายที่ดำรงอำนาจอยู่ในขณะนี้แม้จะมีเสียง ส.ว.อีก 250 คน แต่ก็ใช้ได้ในเกมการเมืองอย่างนี้ก็คือยกมือสนับสนุนตั้งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

...

แต่ในความเป็นจริงทางการเมืองแล้วเรื่องตำแหน่งนายกฯนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบอย่างหนึ่ง ทว่าการรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อเป็นรัฐบาลนั้น

องค์ประกอบสำคัญที่สุดก็คือการได้เสียงข้างมาก ยิ่งมากเท่าใดก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากเท่านั้น

ดังนั้นการรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ได้มากที่สุดจึงเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสียงในสภาสามารถที่จะผลักดันทุกอย่างได้

ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ตั้งรัฐบาลและนายกฯ

จากนี้ไปคงได้เห็นความเคลื่อนไหวเพื่อที่จะ “ล็อบบี้” ให้พรรคการเมืองอื่นสนับสนุนจากพรรคตัวแปรที่ได้อันดับรองๆลงมา

ตรงนี้ก็เลยมีการพูดกันว่าให้ระวัง “งูเห่า” จะมีบทบาทสูง

ทั้งนี้ ก็เพื่อเติมเต็มให้ฝ่ายที่ได้เป็นรัฐบาลเข้มแข็งขึ้น อย่างพรรคตัวแปรก็เช่นกันว่าจะตัดสินใจอย่างไรจะไปต่อกับใครเพราะสามารถต่อรองเพิ่มเงื่อนไขได้มากขึ้น

เกรงว่าเกมจากนี้ไปจะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นมาอีกได้.

“สายล่อฟ้า”