ภายใต้การนำของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อ นโยบายพลังงานของชาติ ถือว่าเป็นผลงานส่งท้ายในการ ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต สำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แหล่งเอราวัณ และ บงกช ที่จะสิ้นสุดการสัมปทานในปี 2565-2566 ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของวงการพลังงานที่มีการนำเอาระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้เป็นครั้งแรก จะถือว่า เป็นผลงานชิ้นโบแดง ของรัฐบาลชุดนี้ก็ได้ที่เห็นความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมือง
เรื่องนี้ ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า การลงนามในสัญญาสัมปทานครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ มูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยมาจากการที่ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงมาที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ทั้ง 2 สัญญามีมูลค่าถึง 5.5 แสนล้านบาท
ผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือผลผลิตจาก แหล่งก๊าซเอราวัณและ บงกช สามารถนำมาใช้เป็น เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนการผลิตในแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ จากเดิมที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 53 เป็นหลักประกันว่าประเทศไทยจะมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียมภายในประเทศใช้งานอย่างต่อเนื่องในราคาที่ไม่แพง สร้างเสถียรภาพด้านพลังงานบนพื้นฐานการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน
ด้วยราคาก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งในอ่าวไทยที่ถูกลงจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงอยู่ที่ประมาณ 4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากเดิมที่ราคา 6-7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู นอกจากราคาก๊าซธรรมชาติจะถูกลงแล้ว จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในประเทศลดลงไปได้อีกหน่วยละ 15-20 สตางค์ อยู่ที่ 3.4 บาทต่อหน่วยจากราคา 3.6 บาทต่อหน่วย
ในด้านการตลาดจะทำให้ ประเทศไทยลดการนำเข้าก๊าซในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จากต่างประเทศ ซึ่งตามแผนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2558-2579 กำหนดนำเข้า LNG ถึง 34 ล้านตันต่อปี แต่เมื่อเราสามารถผลิตก๊าซ จากแหล่งเอราวัณ และ บงกช มาใช้ได้เองจะลดการนำเข้าเหลือแค่ 24 ล้านตันต่อปีที่คาดว่า แหล่งอาราวัณ และ บงกช จะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือทดแทนการนำเข้าประมาณ 10 ล้านตันต่อปี
...
อย่างไรก็ตาม หากมองถึงความเสี่ยงด้านราคาก๊าซธรรมชาติที่ขึ้นลงตามกลไกการค้าเสรี หากรัฐยังวางเป้าหมายที่จะใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จำเป็นที่จะต้องผลักดันเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่เกิดขึ้นโดยเร็ว เปิดโอกาสที่จะผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศให้มากขึ้นตามความต้องการ
ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ รัฐบาลในอนาคต จะต้องมองถึงความสำคัญของ พลังงานของประเทศ ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจที่รัฐบาลในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามจะต้องคำนึงถึง ผลประโยชน์ของประเทศ มากกว่า ทัศนคติทางการเมือง แบบเดิมๆ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th