ไม่มี...ก็เหมือนมี

แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญปี 60 และบรรดากฎหมายลูกทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง

เริ่มจากการลงคะแนนเลือกตั้ง จะใช้บัตรลงคะแนนเพียงใบเดียว และลงคะแนนได้เพียงช่องเดียว ต่างกับที่ผ่านมาจะใช้บัตร 2 ใบ ลงคะแนนได้ 2 ช่อง

คือเลือก “คน” และเลือก “พรรค”

นั่นก็หมายความว่าคะแนนที่ประชาชนลงให้คนและพรรค จะมีความหมายแยกกันแต่ละส่วนล้วนมีความหมายในทางเดียวกัน คือจำนวน ส.ส.ที่จะได้รับจากการนำทั้ง 2 ส่วนมารวมกัน

พรรคไหนได้ทั้งคนและพรรค ก็จะได้จำนวน ส.ส.มากขึ้น จนทำให้สามารถเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เลย

แต่กติกาใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เริ่มจากช่องกาบัตรที่มีเพียงช่องเดียว และใช้บัตรเพียงใบเดียวเท่านั้น

ทว่าบัตรใบเดียวนี่แหละ สามารถได้ทั้ง 3 อย่างในเวลาเดียวกัน 1. เลือก ส.ส. 2. เลือกพรรค 3. เลือกนายกฯ
เลือก ส.ส.นั้น ถ้าผู้สมัครคนไหนได้คะแนนสูงสุด ก็จะได้เป็น ส.ส.ในเขตนั้น โดยมีพรรคการเมืองในสังกัด

เลือกพรรคจะเอาคะแนนในส่วนนี้ไปคำนวณว่าจะได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพียงแต่ว่าจะต้องนำไปเทียบสัดส่วนกับจำนวน ส.ส.ที่ได้รับ

ข้อแตกต่างก็คือ หากได้ ส.ส.มาก ก็จะได้ปาร์ตี้ลิสต์น้อย

บัตรใบเดียวนี้ สามารถที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย เพราะทุกพรรคการเมืองจะต้องเสนอชื่อนายกฯ ซึ่งกำหนดเอาไว้ แต่ละพรรคสามารถเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯได้ถึง 3 คน

เท่ากับว่าประชาชนสามารถเลือกนายกฯล่วงหน้า ด้วยการเลือก ส.ส.พรรคนั้นจำนวนมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่การเลือกนายกฯนั้น จากประชาชนเลือกแล้ว ส.ส.และ ส.ว.ในฐานะรัฐสภาจะเป็นผู้เลือกนายกฯด้วยเสียงข้างมาก

...

เลือกใคร พรรคการเมืองไหน ก็จะได้เป็นนายกฯ

เว้นแต่ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ก็ต้องเลือกกันใหม่รอบที่ 2 แต่จะใช้กติกาใหม่และสามารถดึงคนนอกเข้ามาเสนอชื่อพร้อมกับคนในได้

หากไม่สามารถเลือกนายกฯได้อีกก็จะเกิดปัญหาความยุ่งยากได้

ก่อนหน้านี้มีการมองกันว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปต่อทางการเมืองด้วยการเป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง

มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือในฐานะคนใน หมายความว่าต้องสังกัดพรรคการเมืองด้วยการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯโดยการเลือกของสภา

อีกทางคือ “คนนอก” นั่นคือไม่สังกัดพรรค แต่รอจังหวะสอง

หากไม่สามารถเลือกคนในได้ในรอบแรกก็จะต้องเลือกกันใหม่

แต่ล่าสุดนายกฯได้ประกาศชัดเจนแล้วว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาลก็ต้องชนะการเลือกตั้งรวมเสียงได้มากที่สุด
จะเป็นนายกฯก็ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองชักชวนและก็ต้องพิจารณาว่าจะเลือกพรรคไหนอีกด้วย

ยืนยันว่าไม่มี “นายกฯคนนอก” อย่างแน่นอน เท่ากับว่าหากไปต่อก็จะสังกัดพรรคการเมืองเพื่อให้เสนอชื่อเป็นนายกฯ

เท่ากับว่ามาด้วยระบบไม่ต่างกับคนอื่น เพียงแต่ไม่ได้ลงเลือกตั้งเท่านั้น.

“สายล่อฟ้า”