"ศรีสุวรรณ" ร้องนายกฯ จี้สอบ รฟฟท.ปัญหาด้านความปลอดภัย Airport Link มีความเสี่ยง ปชช.พร้อมตั้ง กก.สอบสวนข้อเท็จจริงเอาผิดผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันนี้ 27 ก.ย.61 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทําเนียบรัฐบาล นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายืนหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เพื่อสั่งการให้มีการตรวจสอบปัญหาด้านความปลอดภัยของรถไฟฟ้า Airport Link และตั้งกรรมการสอบเอาผิดผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ติดตามการดำเนินงานและการบริหารจัดการของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด(รฟฟท.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการให้บริการรถไฟฟ้าเส้นทาง Airport Link สายสนามบินสุวรรณภูมิ-พญาไท พบว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาบริหารขาดทุนมาทุกปี และมีปัญหามาโดยตลอด เช่น ระบบไฟฟ้าของการเดินรถขัดข้อง ทำให้ขบวนรถหยุดให้บริการกะทันหันขบวนรถค้างอยู่ในระบบราง, บันไดเลื่อนค้างไม่ทำงาน, ขบวนรถเสียมีให้บริการเหลือเพียง 4-6 คัน จาก 9 คัน เพราะที่เหลืออยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง การยุบเลิกระบบรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ SA Express เหลือเพียงระบบ City Line ทำให้มีผู้โดยสารหนาแน่นและรอขบวนใหม่นานมากในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็นมักจะดีเลย์มากกว่า 10-15 นาที โดยไม่ยอมจัดซื้อจัดหาขบวนรถมาใช้เพิ่มเติม แม้ประชาชนมาใช้บริการจำนวนมากเพิ่มขึ้นเพียงใดก็ตาม โดยอ้างว่าต้องรอโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสามสนามบินก่อน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หรืออาจะแท้งไปเสียก่อนก็ได้ เพราะขัดต่อกฎหมายหลายประการ

การปรับปรุงบำรุงรักษา Airport Link โดยเฉพาะการบริหารจัดการตรวจสอบซ่อมบำรุง "ระบบราง" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญด้านความปลอดภัยในการรองรับขบวนรถต่างๆ ที่วิ่งให้บริการตลอดทั้งวันนั้น ย่อมต้องมีความเสื่อมตามระยะเวลา ซึ่งหากไม่มีการซ่อมบำรุงใหญ่จะส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการใช้งานระบบขนส่งของรถไฟฟ้าทางรางในหลายกรณี ซึ่งอาจทำให้ขบวนรถไฟฟ้าตกราง หรือตกลงมาจากโครงสร้างรางลงสู่พื้นดินที่มีความสูง 22 เมตรได้ การไม่ตรวจสภาพรางว่ามีการชำรุดเสียหาย บกพร่อง อันเกิดจากการใช้งานและอาจจะทำให้เกิดรอยร้าวทั้งภายในและภายนอกราง สภาพการสึกหรอและการบิดเบี้ยวของราง จึงจะกลายเป็นสาเหตุสำคัญซึ่งอาจทำให้รถไฟฟ้าตกรางได้ เนื่องจากตั้งแต่เปิดใช้งานรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ยังไม่มีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่หรือ Overhaul ในส่วนของระบบราง

...

อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีปัญหาที่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อการใช้บริการรถไฟฟ้าของ รฟฟท. อาทิ ไม่มีอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุงขบวนรถให้พร้อมใช้งานทุกขบวนให้เป็นไปตามหลักการซ่อมบำรุงตามมาตรฐานสากล ไม่มีการสร้างด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยในชานชาลาต่างๆ เช่น ประตูกั้นผู้โดยสารตกลงไปบริเวณรางรถไฟ ไม่มีการประกันภัยกรณีเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยแก่ผู้โดยสาร ไม่มีการวางแผนเพื่ออพยพผู้โดยสารกรณีเกิดอุบัติร้ายแรง ภัยธรรมชาติ ไฟไหม้หรือวินาศกรรม รวมทั้งการแต่งตั้งผู้บริหารฝ่ายซ่อมบำรุง ไม่ตรงกับความรู้ความสามารถด้วย เป็นต้น