"บิ๊กฉัตร" ชื่นชมการทำงาน อย.หลังรัฐบาลใช้ ม.44 ปลดล็อกให้สามารถจัดกระบวนการพิจารณาอนุญาตตามระบบใหม่ สร้างนวัตกรรม การพัฒนาสมุนไพรใหม่ๆ ส่งผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว...


เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 30 ส.ค.2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาการและยา กระทรวงสาธารณสุข พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี แถลงความสำเร็จการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในโอกาสครบ 1 ปี อย. 4.0 จบงานค้าง สร้างนวัตกรรม มุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ โดยชื่นชมการทำงานของ อย.ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานับจากที่รัฐบาลได้เดินหน้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0 โดยการผลักดันให้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสนับสนุนให้ประชาชน ภาคเอกชน ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ทั้งภายในและนอกประเทศซึ่งจะนำมาสู่การเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของประเทศ

จากการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณคำขออนุญาตในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพถึง5เท่าจาก 77,000 คำขอเป็น 380,000 คำขอ ทำให้การทำงานของ อย.ไม่ทันต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจ รัฐบาลจึงได้ใช้มาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา เพื่อมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการของภาครัฐอย่างทั่วถึงและทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้รัฐบาลจึงใช้มาตรา 44 โดยมีคำสั่ง คสช.ที่ 77/2559 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 ทำให้อย.สามารถจัดกระบวนการพิจารณาอนุญาตตามระบบใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 เป็นต้นมา

รองนายกฯ ยังกล่าวขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข และอย.ที่สามารถให้การบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและสนองตอบนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดี

...



ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว. สาธารณสุข กล่าวว่า อาหารและยา ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตดังนั้น อย.จึงเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิต จากดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปฏิรูป อย.ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และด้วยการประกาศใช้มาตรา 44 ในการปรับการทำงานของ อย.ทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการทำงานเชิงรุกมากกว่าเชิงรับเช่นที่ผ่านมาการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ โดย อย. ต้องปรับกระบวนการทำงานอย่างเต็มรูปแบบให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคสูงสุด 

ส่วน นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า นับเป็นความสำเร็จของการดำเนินงานตลอด1ปี ที่ผ่านมา สามารถปรับลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตลงเฉลี่ยร้อยละ27.4 และเร่งรัดงานพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพคงค้าง จำนวน9,112คำขอ โดยเฉพาะการพัฒนาสมุนไพรหลายรายการให้ได้การพัฒนารับรองคุณภาพ ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบสินค้าในท้องตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐานของ อย. การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาทดแทนการใช้ระบบเอกสารกระดาษ โดยตั้งเป้า 3 ด้านคือ ผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ประกอบการก้าวไกล และระบบคุ้มครองสุขภาพยั่งยืน.