มาตรการกีดกันทางการค้า ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และมีผลต่อการค้าโลกในปัจจุบันและอนาคต แค่ สหรัฐฯ ใช้มาตรการทางภาษีกับการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม กับประเทศที่สหรัฐฯมองว่าถูกเอาเปรียบทางด้านเศรษฐกิจ หรือกับประเทศที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ ก็ทำให้โลกปั่นป่วนแล้ว โดยเฉพาะกับบรรดามหาอำนาจเศรษฐกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น จีน รัสเซีย เยอรมนี และผลกระทบยังเป็นลูกโซ่ไปถึงประเทศคู่ค้านั้นๆรวมทั้งประเทศไทยด้วยที่ต้องตกเป็นเหยื่อของสงครามทางการค้า

การแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จึงอยู่ที่วิสัยทัศน์ของแต่ละประเทศในการรับมือกับ สงครามทางการค้า เช่นส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น หรือรวมตัวกันเพื่อตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้าหันมาค้าขายแลกเปลี่ยนกันเอง เป็นต้น

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ จะเรียกว่า ไทยแลนด์ 4.0 หรืออะไรก็แล้วแต่ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ ด้านพลังงาน การคมนาคมและโทรคมนาคม เม็ดเงินลงทุนถูกจำกัดมากขึ้น การที่นักลงทุนจะตัดสินใจไปลงทุนที่ประเทศไหนต้องมีการศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้เศรษฐกิจเป็นฟองสบู่ ผลกระทบจะย้อนกลับมาที่คนลงทุนในท้ายที่สุด

ประเทศไทยมีของดีหลายอย่างที่จูงใจให้เกิดการลงทุน เฉพาะมาตรการสนับสนุนการลงทุนของ บีโอไอ น่าจะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะถึงจะให้เงื่อนไขดีแค่ไหน แต่บรรยากาศและแนวโน้มความเชื่อมั่นของประเทศนั้นๆมีความเสี่ยงมากเกินไปก็ไม่มีใครกล้าลงทุน

อย่างจะยกตัวอย่างเรื่องของ อีอีซี ที่ถูกโจมตีพอสมควร ถ้ามองแต่เหรียญด้านเดียวอาจจะมองว่า อีอีซีเป็นแค่เสือกระดาษ แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้ว อีอีซี หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เน้นเรื่องของ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้เชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ มีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างกัน พัฒนาระบบรางในการขนส่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งในการ สนับสนุนการท่องเที่ยว เป็นฮับทางธุรกิจ ศูนย์กลางทางการเงิน พร้อมไปกับ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาวางแผนผังเมืองใหม่ การพัฒนาทางด้านการเกษตร การชลประทานและสิ่งแวดล้อม การสร้างงานอีกจำนวนมหาศาล

...

ขยายจากระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็น การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ พัฒนาเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลหรือ อีอีซีดี ซึ่งจะเป็นโครงการที่เชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคใต้หรือ เอสอีซี เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอนาคต

ซึ่งกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคเอกชนสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมในฐานะรับผิดชอบโครงการอีอีซีหมายมั่นปั้นมือว่า 6 โครงการหลักของอีอีซีที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนในปี 2562 จะเป็น เส้นเลือดใหญ่ของประเทศในการปรับเปลี่ยนอนาคตเศรษฐกิจ ไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างแน่นอน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th