แฟ้มภาพ
เอาเป็นว่า นโยบายการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนของทีมเศรษฐกิจ ซึ่งนำโดยรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดยเฉพาะระบบการขนส่งขนาดใหญ่ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ 4.0
การประชุม ครม.สัญจรที่ อุบลราชธานี เที่ยวนี้ งบประมาณส่วนใหญ่จึงทุ่มเทไปที่ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการตั้งศูนย์กระจายสินค้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในอนาคตการค้าขายใน อินโดจีน จะเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะโตถึงร้อยละ 4.2 ถ้าการบริหารจัดการไม่ดี ต่อให้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาไปไกลขนาดไหนก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น
รัฐบาลควรจะต้องส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด หนึ่งตัวอย่างคือ การสร้างเขื่อน ถ้าไม่มีกรรมการจากหลายหน่วยงานมาร่วมกันพัฒนาใช้น้ำในเขื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค หรือภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า ก็เท่ากับว่า การใช้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนไม่มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ประโยชน์มากขึ้นเท่าไหร่ก็จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้คุ้มค่าเท่านั้น ยกตัวอย่างการสร้าง แผงโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ อาจจะลอยไว้ในอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ก็จะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม การติดตั้งก็ง่ายกว่า และประหยัดพื้นที่บนดิน ที่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อีกด้วย
การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้พื้นที่ตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถึง 13 ไร่ ทำให้ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตรไปอย่างน่าเสียดาย
...
แผงโซลาร์เซลล์ชนิดนี้มีคุณสมบัติทางเทคนิคที่น่าสนใจ ระดับของอุณหภูมิมีส่วนในการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจาก การทำงานของแผงโซลาร์เซลล์จะสูงขึ้นเมื่ออุณหภูมิต่ำลง เพราะฉะนั้นการติดตั้งบนน้ำซึ่งมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าพื้นดินจึงทำให้ประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ โรงไฟฟ้าวังน้อย มีกำลังการผลิต 2.6 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ 20 ไร่เท่านั้น
เรื่องดังกล่าว หากรัฐให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กฟผ. กรมชลประทาน หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ มาหารือร่วมกัน เพื่อใช้ทรัพยากรของประเทศให้คุ้มค่ามากที่สุด
มีหลายประเทศที่มีเขื่อนมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น แคนาดา ได้ใช้วิธีดังกล่าวในการผลิตกระแสไฟฟ้า ปรากฏว่าได้ผลดีกว่าที่คาดเอาไว้ ไม่รบกวนพื้นที่เพาะปลูกด้านการเกษตรและยังประหยัดต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้นด้วย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th