"บิ๊กนุ้ย" ปลื้มทหารน้ำสุดเจ๋ง สร้างผลงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการ ทร.โดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือได้จัดงาน "นาวีวิจัย 2018 ก้าวต่อไป เพื่อเป็นหนึ่งในท้องทะเล" ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ "สืบสาน รักษา ต่อยอด" ของ ในหลวง รัชกาลที่ 10 โดยปีนี้มอบรางวัลยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยกองทัพเรือ จำนวน 7 รางวัล...

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ก.ค. 61 พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "นาวีวิจัย 2018 ก้าวต่อไปเพื่อเป็นหนึ่งในท้องทะเล" ณ หอประชุมกองทัพเรือ โดยมี พล.ร.ต.ก่อเกียรติ ปั้นดี ผู้อำนวยการสักนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ให้การต้อนรับ



ประเทศไทย มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีทางออกทะเลสองด้าน เปรียบเสมือนประตูสู่สองมหาสมุทร ประกอบกับลักษณะชายฝั่งที่งดงาม และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยมีผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่มีมูลค่าสูงถึง 24 ล้านล้านบาทต่อปี กองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรักษาความมั่นคงทางทะเลของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้เร่งพัฒนาขีดความสามารถ เพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ทางทะเลดังกล่าว รวมทั้งเพื่อพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน โดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ด้วยการวิจัยและพัฒนาการทางทหาร รวมทั้งมุ่งสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุสาหกรรมของประเทศ ด้วยนวัตกรรมตามโมเดล "ไทยแลนด์ 4.0"

...

จากนโยบายของ พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่กำหนดให้สร้างผลงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการทางยุทธการ มีมาตรฐานระดับสากล และมุ่งสู่สายการผลิต เพื่อสนับสนุนอุสาหกรรมป้องกันประเทศนั้น สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ จึงได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในด้านการทหาร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนจำนวนมาก



สำหรับในปีนี้ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “ก้าวต่อไป เพื่อเป็นหนึ่งในท้องทะเล” ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มาเป็นแนวทางในการดำเนินการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย เพื่อสนับสนุนเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกองทัพเรือ คือ การเป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่มีบทบาทนำในภูมิภาค อันจะช่วยในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และช่วยเหลือประชาชนตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น



โดยงานนาวีวิจัย 2018 ในปีนี้ ได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยกองทัพเรือ จำนวน 7 รางวัล ได้แก่ ผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาระบบควบคุมและอำนวยการยิงปืนใหญ่ ขนาด 105 มิลลิเมตร ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน โดยมีสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ เป็นหน่วยเจ้าของโครงการ และ พล.ร.ท.สุทธิไชย รังสิโรดม์โกมล เป็นนายทหารโครงการ

ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ ผลงานสายรัดข้อมือช่วยชีวิต ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีโรงเรียนนาวิกเวชกิจ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นหน่วยเจ้าของโครงการ และ จ่าตรี คมศร สุขไสว เป็นนายทหารโครงการ ผลงานเครื่องช่วยฝึกจำลองสถานการณ์การใช้อาวุธในระยะประชิด สำหรับชุดปฏิบัติการพิเศษ โดยมี หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ เป็นเจ้าของโครงการ นาวาโท ศุภณัฐ ธนะสีลังกูร เป็นนายทหารโครงการ



ผลงานโปรแกรมรายงานตำบลที่อัตโนมัติบนแผนที่ 2 มิติ และ 3 มิติ แบบ Real time มี กรมการขนส่งทหารเรือ เป็นหน่วยเจ้าของโครงการ นาวาเอก อนุสรณ์ ยังคุ้มญาติ เป็นนายทหารโครงการ ผลงานสายอากาศฮอร์นอัลตราไวด์แบนด์แบบสันคู่ สำหรับย่านเอสและซีแบนด์ สร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยมีโรงเรียนนายเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นเจ้าของโครงการ นาวาตรี ธีรพงศ์ โอฬารกิจอนันต์ เป็นนายทหารโครงการ ระบบโปรแกรมบัญชีอิเล็กทรอนิกส์สำหรับส่วนราชการ (FIN GL) โดยมี กรมการเงินทหารเรือ เป็นหน่วยเจ้าของโครงการ นาวาโทหญิง พรรณวิภา ยนนาวา เป็นนายทหารโครงการ

การพัฒนารูปแบบการเรียนแบบผสมผสานที่ใช้บทเรียนมัลติมีเดีย เชิงสถานการณ์และวิธีการฝึกหัดทางปัญญาจากต้นแบบ เพื่อเสริมสร้างทักษะการให้เหตุผลทางคลินิกของนักศึกษาพยาบาล โดยมีวิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นหน่วยเจ้าของโครงการ นาวาโทหญิง กิตติมา สาธุวงษ์ เป็นนายทหารโครงการ



สำหรับการจัดการแสดงในปีนี้ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ จะจัดให้มีการสาธิตการปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันด้วยการบูรณาการผลงานวิจัยของกองทัพเรือ เช่น อากาศยาน ไร้คนขับขึ้นลงทางดิ่งแบบนารายณ์ 3.1 ระบบควบคุมบังคับบัญชาแบบพกพา หมวกทหารราบอัจฉริยะ ที่ศูนย์ควบคุมสถานการณ์จำลองในบริเวณงาน นอกจากการแสดงต่างๆ ข้างต้น ในงานนาวีวิจัย 2018 ยังจะได้จัดให้มีการแสดงผลงานวิจัยของกองทัพเรือ และจากหน่วยงานต่างๆ เช่น โครงการวิจัยฯ อากาศยานไร้นักบินแบบปีกหมุนขึ้น–ลงทางดิ่ง แบบ TAREM หมวกทหารราบติดกล้องและส่งสัญญาณภาพ โครงการวิจัยฯ ระบบควบคุมบังคับบัญชาแบบพกพา CCMLS โครงการวิจัยฯ สร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กของกองทัพเรือ/Midget Submarine โครงการวิจัยฯ หุ่นยนต์ภาคพื้นสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหาร และโครงการวิจัยที่สามารถนำไปสู่สายการผลิต



การจัดงานนาวีวิจัย 2018 ภายใต้แนวคิด "ก้าวต่อไป เพื่อเป็นหนึ่งในท้องทะเล" ของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือในครั้งนี้ นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดผลการวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม นำมาซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนเกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างดีของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา บริษัท เค.เอ็ม.แอล. เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ท๊อป เอนจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน อันจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความยั่งยืนของการวิจัยพัฒนาพึ่งพาตนเอง เพื่อร่วมนำพาประเทศชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป.