"แม่ทัพเรือ" เป็นประธานการปิด ฝึกกองทัพเรือ 2561 พอใจผลการฝึก เกณฑ์ดี แนะวางแผนฝึกใช้เรือดำน้ำ และการสงครามไซเบอร์ ตามแนวความคิดและกำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ 20 ปี...


เมื่อวันที่ 13.30 น. วันที่ 28 มิ.ย. พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2561 ณ ห้องประชุมบริพัตร ชั้น 5อาคารสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑลจังหวัดนครปฐม

การฝึกกองทัพเรือเป็นการบูรณาการการฝึกภายในกองทัพเรือ ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ การปฏิบัติและการสนับสนุนของกรม ในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถปฏิบัติงานร่วมกันตามแผนยุทธการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2561 รับผิดชอบอำนวยการจัดการฝึกให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การฝึกที่กองทัพเรือกำหนดไว้

...



นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ยังได้มอบนโยบายการฝึกเพิ่มเติมประกอบด้วยการนำแนวความคิดและกำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ 20 ปี แนวความคิดการใช้กำลังที่ได้จากบทเรียนของการฝึกในปีที่ผ่านมา แนวความคิดในการใช้เรือดำน้ำ และการสงครามไซเบอร์ มาใช้เป็นกรอบในการวางแผนการฝึก

การดำเนินการฝึก ทร.61 มีขั้นตอนการฝึก ประกอบด้วย ขั้นการอบรมก่อนการฝึกซึ่งเริ่มปฏิบัติในห้วงเดือนธันวาคม 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจให้กำลังพลมีความพร้อมก่อนเริ่มทำการฝึก ขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการหรือ CPX ในห้วงเดือนมีนาคม 2561 และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล หรือ FTX ในห้วงเดือนเมษายน 2561 ถึงเดือนพฤษภาคม 2561เป็นการแยกฝึกตามสาขาปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ เพื่อทดสอบความพร้อมองค์บุคคล องค์วัตถุและองค์ยุทธวิธีในการปฏิบัติตามกิจที่ได้รับมอบ โดยหน่วยรับการฝึกได้ใช้โครงสร้างจริงของหน่วยทุกระดับเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” และ“ปฏิบัติงานอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” นอกจากนี้ได้มีการบูรณาการขีดความสามารถของหน่วยงานภายในกองทัพเรือ มาดำเนินการฝึกภายใต้สถานการณ์เดียวกันและได้มีการบูรณาการการฝึกร่วมกับกำลังของกองทัพบกและกองทัพอากาศ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหมายให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ทักษะและความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความสามัคคีระหว่างหน่วยงานและระหว่างเหล่าทัพ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ

สำหรับการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเลหรือ FTX ในภาพรวมทำการฝึก ระหว่าง 17 เมษายน ถึง 4 พฤษภาคม 2561 เป็นการฝึกภาคปฏิบัติในลักษณะแยกฝึกตามสาขาปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆโดยสมมติสถานการณ์การฝึกให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่องกับสถานการณ์การฝึกปัญหาที่บังคับการเพื่อทดสอบความพร้อมในการปฏิบัติตามกิจที่ได้รับมอบของหน่วยในระดับยุทธวิธี ซึ่งได้จัดกำลังทางเรือเป็นหมวดเรือเฉพาะกิจไปทำการฝึกในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อให้สอดคล้องกับการทดสอบแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ โดยนำแนวความคิดตามแผนป้องกันประเทศด้านตะวันตกมาใช้ทดสอบในการฝึก ประกอบด้วย

การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างกำลังทางเรือของกองทัพเรือและอากาศยานของกองทัพอากาศในหัวข้อการควบคุมการบินสกัดกั้นเป้าหมายทางอากาศ การควบคุมการบินโจมตีเรือผิวน้ำข้าศึกนอกระยะอาวุธของกองเรือ และการป้องกันภัยทางอากาศของกองเรือซึ่งกองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินขับไล่โจมตีสมรรถนะสูงแบบ Gripen จำนวน 4 เครื่องและเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนภัยทางอากาศแบบ Erieye จำนวน 1 เครื่อง มาเข้าร่วมการฝึกฯ โดยเป็นการฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือของกองทัพเรือและอากาศยานของกองทัพอากาศเป็นครั้งแรกในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันในการนี้ได้จัดให้มีการฝึกยิงจรวดปราบเรือดำน้ำหรือ RDC เพื่อทดสอบการปฏิบัติและเสริมสร้างความชำนาญในการยิงจรวดปราบเรือดำน้ำของเรือ

การฝึกป้องกันพื้นที่ของทัพเรือภาคที่ 1 2 และ 3 จากการแทรกซึมโจมตีจากข้าศึกสมมติในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละทัพเรือภาค การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ในลักษณะของการใช้ขีดความสามารถของกำลังทางเรือเข้าช่วยเหลือประชาชนจากทางทะเล ซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดจากเรือสู่ฝั่ง หรือ From the Sea โดยประกอบกำลังจากหน่วยต่าง ๆ เป็นหมู่เรือฝึกบรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ออกเดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบไปทำการฝึกฯ ในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ ๓ เพื่อทดสอบแผนบรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือและขีดความสามารถในการปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ โดยเฉพาะการทดสอบความพร้อมและขีดความสามารถของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ด้าน HA/DR ในการควบคุมและอำนวยการปฏิบัติของหน่วยกำลังในพื้นที่ประสบภัยบนบกรวมทั้งมีการปฏิบัติการร่วมกับภาคพลเรือนในลักษณะศูนย์บัญชาการเหตุการณ์วิกฤติ (IncidentCommandCenter:ICC) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ยังได้บูรณาการการฝึกผสม GuardianSea2018 ซึ่งเป็นการฝึกกับเรือดำน้ำเรือผิวน้ำ และอากาศยานของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในห้วงเวลาเดียวกัน ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณจากการบูรณาการการฝึก ทร.61 และการฝึกผสม Guardian Sea 2018 ได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งการฝึกสาธิตของหน่วยงานต่าง ๆ ของ ศรชล. ในพื้นที่ ศรชล.เขต 3 ในหัวข้อการฝึกสกัดกั้นและตรวจสอบเรือต้องสงสัย และการฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ส่งผลให้การจัดกำลังของกองทัพเรือเดินทางไปฝึกในพื้นที่ด้านฝั่งทะเลอันดามันในครั้งนี้ เป็นการใช้จ่ายงบประมาณด้วยความประหยัดและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า



สำหรับการฝึกภาคสนามของหน่วยกำลังทางบก ได้วางแผนการฝึกร่วมกันระหว่างหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และกองทัพบก ในพื้นที่สนามฝึกกองทัพเรือหมายเลข 16 บ้านจันทเขลมจังหวัดจันทบุรี ซึ่งในปีนี้ กองทัพบกได้ปรับแผนการฝึกของกองพลทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์ โดยจัดกำลังกองร้อยทหารราบ พร้อมรถเกราะล้อยางแบบ BTR - 3E 1 จำนวน 8 คัน และรถถังแบบ T-84 Oplot จำนวน 4 คัน มาร่วมการฝึก

นอกจากมีการฝึกรายการต่าง ๆ ตามที่กล่าวแล้ว ยังมีการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธีด้านฝั่งทะเลอันดามันของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศและการป้องกันฝั่ง ในพื้นที่รับผิดชอบทางด้านฝั่งทะเลอันดามันการฝึกการลำเลียงทุ่นระเบิดและอาวุธปล่อยนำวิถีทางรถยนต์ เพื่อให้หน่วยมีความพร้อมก่อนที่จะทำการฝึกแบบบูรณาการกำลังทุกหน่วย ในการฝึก ทร.62 ต่อไป



โดยสรุปแล้วการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2561 สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และนโยบายการฝึกได้ทุกประการ ซึ่งได้ปรากฏผลเป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยผลการฝึกในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์นโยบายจนถึงระดับยุทธวิธี และยังเป็นการ
บูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดรวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญตามภารกิจ บทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือ โดยเมื่อทำการฝึกเสร็จสิ้นแล้วจะทำให้หน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนเชื่อมั่นได้ว่ากำลังรบของกองทัพเรือจะมีความพร้อมในการปกป้องอธิปไตยรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.