ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 63 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2561 ประเทศ ไทยหล่นจากอันดับ 27 ไปเป็นอันดับ 30
ลดลง 3 อันดับจากปีที่ผ่านมา
ถ้าเทียบเฉพาะ 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน “สิงคโปร์” ยังติดอันดับ 3 เท่าเดิม “มาเลเซีย” เลื่อนจากอันดับ 24 เป็นอันดับ 22 “อินโดนีเซีย” หล่นจากอันดับ 42 เป็นอันดับ 43
และ “ฟิลิปปินส์” ไหลจากอันดับ 41 รูดไปอยู่อันดับ 50
สรุปว่าผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยปีล่าสุดออกมาไม่แจ่มอย่างที่คาดกัน
“แม่ลูกจันทร์” หยิบอันดับความสามารถการแข่งขันของไทยเทียบย้อนหลังไป 5 ปี
ปี 2557 ไทยติดอันดับ 29, ปี 2558 ไทยหล่นไปอันดับ 30, ปี 2559 ไทยเขยิบขึ้นไปอันดับ 28, ปี 2560 ขยับขึ้นไปอันดับ 27
และปีนี้ 2561 ไหลกลับไปอยู่อันดับ 30
ปีนี้เป็นปีแรกที่อันดับความสามารถการแข่งขันของไทยตกรูดไปมากถึง 3 อันดับ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สาเหตุหลักที่อันดับความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง มาจากการที่รัฐบาลใช้นโยบาย งบประมาณขาดดุลเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศครบวงจร
การจัดงบประมาณขาดดุล (รายจ่ายสูงกว่ารายได้) เป็นตัวฉุดให้อันดับความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง!!
นายกฯบิ๊กตู่ เชื่อว่าการที่รัฐบาลใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลจะเกิดผลกระทบระยะสั้น แต่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว
“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยว่าการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
การที่รัฐบาลต้องกู้เงินลงทุนโครงการใหญ่ๆทำให้งบรายจ่ายประเทศขาดดุลติดลบตัวแดงทุกปีๆๆ
ทำลายสถิติขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์
...
หากรัฐบาลใช้งบขาดดุลเพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศอย่างเดียว ย่อมเกิดประโยชน์คุ้มค่าในระยะยาว
แต่ปัญหาเกิดจากรัฐบาลใช้งบขาดดุลไปอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ มากเกินความจำเป็น
กลายเป็นเบี้ยหัวแตก ใช้แล้วหมดไป ไม่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
ตรงนี้แหละกลายเป็นตัวฉุดอันดับความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง
“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่า ผลการจัดอันดับการแข่งขันประเทศที่ลดลงจะทำให้รัฐบาลเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายงบขาดดุลให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าอย่างยั่งยืน
ล่าสุด “พ.ร.บ.วินัยการเงินฉบับใหม่” ที่เพิ่งประกาศใช้สดๆร้อนๆ มีเงื่อนไขห้ามรัฐบาลทำโน่นทำนี่ทำนั่นไว้มากมาย เช่น...
ห้ามรัฐบาลขาดดุลงบประมาณเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ต่อปี!!
ห้ามรัฐบาลก่อหนี้สาธารณะเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ห้ามรัฐบาลก่อหนี้ผูกพันข้ามปีเกิน 10 เปอร์เซ็นต์
ห้ามรัฐบาลตั้งงบกลางเกิน 3.5 เปอร์เซ็นต์ของยอดงบประมาณรายจ่ายประจำปี
และสุดท้าย (อันนี้สำคัญ)...ห้ามรัฐบาลใช้งบเพื่อสร้างคะแนนนิยมทาง การเมือง ฯลฯ
ในเมื่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินฉบับใหม่เขียนห้ามไว้อย่างนี้ รัฐบาล นายกฯบิ๊กตู่ ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยนะโยม.
"แม่ลูกจันทร์"