เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือ พ.ร.บ.อีอีซี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีทั้งสิ้นจำนวน 73 มาตรา ให้พื้นที่พัฒนาครอบคลุม จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

นับจากนี้เป็นต้นไป โครงการต่างๆที่อยู่ภายใต้ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกก็จะเริ่มขับเคลื่อนทันที ทั้งการคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน การโทรคมนาคม การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะต่างๆ และจะมีผลต่อสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศในอนาคต

สิ่งที่รัฐบาลจะเตรียมรับมือในเบื้องต้นคือ การอพยพของภาคแรงงาน ที่อยู่อาศัยอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ระเบียบปฏิบัติสำหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านและผู้ประกอบการด้วย

อย่างกรณีมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้ โครงการในอีอีซี ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนหรือชุมชน ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้วยังเป็นช่องว่างให้ เอ็นจีโอ นำมาเป็นข้ออ้างในการต่อต้านคัดค้านได้

มาตรา 10 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีนายกฯเป็นประธาน มีหน้าที่ กำหนดนโยบายพัฒนาอีอีซี แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการอีอีซีที่จะเป็น เส้นเลือดเศรษฐกิจของประเทศ ในอนาคตด้วยเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท

มาตรา 39 กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษจากอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักทั้งหมดหรือบางส่วนจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่อย่างน้อยต้องมีอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการผลักดันประเทศไทยไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น

มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่ง เป็นนิติบุคคลและคนต่างด้าว ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบการที่ได้รับอนุญาตได้ โดยยกเว้นไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน

...

โดยในมาตรา 52 ได้ลงรายละเอียด การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ให้นำความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมมาใช้บังคับ คือห้ามไม่ให้ทำสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกินกว่า 50 ปี และการต่อสัญญาเช่าจะต่อสัญญาเกินกว่า 49 ปีในวันที่ครบสัญญาเดิม 50 ปีไม่ได้

สรุปแล้วการเช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำได้ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลและเช่าเพื่อการประกอบการในอีอีซีได้สูงสุดไม่เกิน 99 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะคือ 50 ปีแรก และ 49 ปีหลัง คาดว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากขึ้น

ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อีกระลอก.

หมัดเหล็ก