ผมเพิ่งอ่านข่าว คุณบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกบางจากที่จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำเทคโนโลยี บล็อกเชน (Block-chain) มาบริหารจัดการไฟฟ้านำร่องใน โครงการแสนสิริ เพื่อผลิตไฟฟ้า จากหลังคา โซลาร์รูฟท็อป มาซื้อขายกันเองด้วย ระบบการซื้อขายแบบ Peer to Peer ในราคาค่าไฟฟ้าที่ตกลงกันเอง แบบเดียวกับการให้สินเชื่อแบบเพียร์ทูเพียร์ อ่านแล้วก็ขอนำมาเล่าต่อ เพราะถูกใจจริงๆ

ความคิดของเอกชน วันนี้ ได้ก้าวข้ามอุปสรรคการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่ถอยหลังไปสู่ยุคถ่านหิน แต่มาติดกับดัก คุณศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีพลังงาน ที่ประกาศหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5 ปี ไม่รู้ต้องการเอื้อใคร แต่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ค้านเต็มที่ ทำให้ธุรกิจพลังงานของประเทศล้าหลังและเสียหายมูลค่ามหาศาล

ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ต้องนำไปคิดทบทวนให้ดี รัฐบาลจะพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศไทยให้ก้าวหน้า หรือจะดึงประเทศไทยให้ถอยหลัง

ไปดูเรื่องดีๆที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองกันดีกว่าครับ คุณบัณฑิต เปิดเผยว่า บีซีพีจี ได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษ เพื่อบริหารจัดการพลังงานด้วยเทคโนโลยีโดยเฉพาะ เพื่อใช้พลังงานหมุนเวียนให้เกิดประสิทธิภาพ และสอดรับกับ แนวคิดเรื่องการแบ่งปันพลังงาน (Sharing Economy) ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีแนวโน้มหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน โดยผลิตเองใช้เอง และจ่ายเข้าสู่ระบบเพื่อขายให้กับผู้อื่น เมื่อมีไฟฟ้าส่วนเกิน

บีซีพีจีมีเป้าหมายจะ ทำธุรกิจไฟฟ้ากับผู้บริโภคโดยตรง จึงจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท พาวเวอร์ เลดเจอร์ ออสเตรเลีย นำเทคโนโลยี “บล็อกเชน” ที่มี ระบบการบริหารจัดการไฟฟ้า มาใช้นำร่องใน โครงการแสนสิริ ที่ แสนสิริ ทาวเวอร์ สุขุมวิท 77 หรือ T77 โดยเฟสแรกมีผู้ร่วมโครงการ 3 หน่วยงาน คือ โครงการฮาบีโตะมอลล์ กำลังผลิตติดตั้ง 55 กิโลวัตต์ โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ กำลังผลิตติดตั้ง 230 กิโลวัตต์ และ โครงการคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ พาร์ค คอร์ท สุขุมวิท 77 มีกำลังผลิตติดตั้ง 180 กิโลวัตต์

...

ขณะนี้ บีซีพีจี ได้ติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป ที่ ฮาบีโตะมอลล์ เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าได้ในต้นเดือนมิถุนายน เมื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเรียบร้อยแล้ว พาวเวอร์เลดเจอร์ จะเข้าไปติดตั้ง ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer และบริหารจัดการต่อไป พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ได้ จะนำมาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เพื่อแจกจ่ายให้กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ และขายให้กับบ้านที่ไม่ได้ติดโซลาร์รูฟในราคาที่ตกลงกันเอง โดย ระบบบล็อกเชน จะคำนวณการใช้ไฟฟ้าของทุกบ้านออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการใช้ไฟฟ้าลดลงราว 25%

คุณบัณฑิต เปิดเผยด้วยว่า บีซีพีจี ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ การไฟฟ้านครหลวง เพื่อ รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าปกติ ถ้ามีเหลือใช้ และมีแผนลงทุนด้านพลังงานในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้บริหารจัดการด้วย

ถ้า บีซีพีจี ทำโครงการนี้สำเร็จ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ การไฟฟ้านครหลวง สนับสนุนรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน ผมคิดว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ คงมีหนาวแน่นอน

ทุกวันนี้ โรงงานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ก็มีการ ผลิตไฟฟ้าด้วยแสงแดดใช้เอง เพื่อประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงมาก ส่วนใหญ่ก็ผลิตไฟฟ้าได้เหลือใช้ และต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย เพราะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ยอมรับซื้อเข้าระบบ ยิ่งวันเสาร์อาทิตย์ที่โรงงานหยุดการผลิต ไฟฟ้าแสงแดดที่ผลิตได้ก็ต้องทิ้งไปหมด ไม่รู้เป็นมูลค่าเท่าไหร่

แต่ถ้าโครงการของบีซีพีจีประสบความสำเร็จ การผลิตไฟฟ้า และ การซื้อขายไฟฟ้า ในเมืองไทยจะเปลี่ยนโฉมไปสู่ การซื้อขายไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ เลยทีเดียว

ผมเห็นด้วยและสนับสนุนเต็มที่ครับ และหวังว่า รัฐบาลจะไม่เป็นตัวถ่วงเสียเอง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”