สนช.ลงมติเอกฉันท์ เห็นชอบกับการแก้ไข พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว ที่มีการปรับลดโทษ และปรับปรุงระบบการอนุญาต เพื่อปลดล็อกปัญหาแรงงานข้ามชาติ
วันที่ 26 เม.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ลงมติเอกฉันท์ 177 เสียง เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และมีมติ 176 เสียง เห็นชอบกับพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอกฎหมาย เพื่อปลดล็อกและแก้ปัญหากรณีการใช้แรงงานต่างชาติในประเทศไทยที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ เพื่อให้มีการใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น ลดขั้นตอนการดำเนินการให้สะดวกและง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพ โดยมั่นใจว่า การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้
ขณะที่การอภิปรายของสมาชิก ส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยไม่ให้ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในระดับกรรมกรซึ่งคนไทยไม่นิยมทำ ขณะที่สมาชิกบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า การปรับลดโทษและยกเว้นการปฏิบัติบางเรื่อง จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่มีนายจ้าง ซึ่งอาจเข้ามาแย่งงานคนไทย หรือทำธุรกิจใต้ดิน
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้มีการใช้ระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น และกำหนดกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน อาทิ กรณีนายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายทำงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน รวมถึงยกเลิกประกาศเขตที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าว โดยให้แรงงานสามารถทำงานและพักที่ใดก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ จนเป็นเหตุให้เกิดการค้ามนุษย์ รวมทั้งการปรับปรุงอัตราโทษให้มีความเหมาะสม อาทิ มาตรา 101 ที่กำหนดโทษแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตจากเดิมจำคุก 5 ปี ปรับ 2 หมื่น-1 แสนบาท โดยตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับ 5 พัน-5 หมื่นบาท
...
เช่นเดียวกับ มาตรา 102 ที่กำหนดให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จากโทษปรับเดิมตั้งแต่ 4-8 แสนบาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน เหลือ 1 หมื่น-1 แสนบาทต่อคน และใครทำผิดซ้ำซากจะจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5 หมื่น-2 แสนบาท และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลกำหนดมิให้นำมาตราที่ถูกพักการบังคับใช้มาบังคับใช้จนกว่าจะถึงวันที่ 1 ก.ค.นี้
ขณะที่ สาระสำคัญของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว