ข้อมูลจาก องค์การการค้าระหว่างประเทศ ชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการนำเอาข้อมูล การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปเปรียบเทียบกับ กัมพูชา และ ลาว โดยพยายามชักจูงให้เกิดความสับสนว่า เศรษฐกิจ ของประเทศเพื่อนบ้านดีกว่า เศรษฐกิจของไทย ถือเป็นการบิดเบือน ข้อมูลที่ทำให้ประเทศเสียประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาลโดยตรง

การจะนำตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศ จำเป็นต้องวัดจากขนาดเศรษฐกิจ ที่ใกล้เคียงกัน เช่นตัวเลขการเจริญเติบโตของ ไทยกับสหรัฐฯหรือของไทยกับจีน ก็มีขนาดที่แตกต่างกันมาก เช่น สมมติเศรษฐกิจของสหรัฐฯโตแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจของไทยโต 4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบมูลค่ากันแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯก็มีมูลค่ามากกว่าเราอยู่ดี

มูลค่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ร้อยละ 9.2 ของไทย เมื่อเทียบกับปี 2558 จากมูลค่า 416,963 ล้านเหรียญ เป็น 459,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2560 มูลค่าการส่งออก ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 มูลค่าการส่งออกจาก 214,309.6 ล้านดอลลาร์ เป็น 236,694.2 ล้านดอลลาร์ มีการ ขยายตลาดใหม่ ไปยัง ทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และ CIS ซึ่งมีการขยายตัวกว่าร้อยละ 50 ในปีที่ผ่านมา

เมื่อดูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ จาก ทุนสำรองระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวน 155,423 ล้านเหรียญ เมื่อนับจากสิ้นเดือน มี.ค.ปี 2558 จนถึงสิ้นเดือน ม.ค.ปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 214,665 ล้านเหรียญ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ค่อนข้างคงที่ที่ร้อยละ 41-42

ความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ อันดับที่ 6 ในการเป็นประเทศที่มีโอกาสการเติบโตในอนาคต อันดับที่ 8 ในด้านมรดกทางวัฒนธรรม

...

ส่วนปัจจัยที่กระทบจากภายนอก เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้ปลดธงแดงในมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินไปตั้งแต่เดือน ก.ย.ปี 2560 สหภาพยุโรป ปลดล็อกใบเหลืองออกจากการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing สหรัฐฯ ปรับลดระดับตามรายงาน สถานการณ์การค้ามนุษย์ จากระดับ 3 เป็นระดับ 2 รวมทั้ง สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เลื่อนอันดับสถานะประเทศไทยในฐานะคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ จากกลุ่มที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ เป็นประเทศที่ถูกจับตามอง

รายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยว ซึ่งบ้านเราปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 29.9 ล้านคนในปี 2558 เป็น 35.4 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 1.45 ล้านล้านบาท เป็น 1.82 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ในปีนี้ จากการคาดการณ์คาดว่าอย่างน้อยนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 39 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2 ล้านล้านบาท สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย ในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 157.6 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นรายได้ 1.01 ล้านล้านบาท โดยเมื่อวัดจากจำนวนเส้นทางการบินที่เปิดใหม่ ประมาณ 148 เส้นทางที่บินมาจาก จีน ฝรั่งเศส อาเซียน เกาหลีใต้ รัสเซีย ญี่ปุ่น และเอเชียใต้ เท่ากับว่าโอกาสของประเทศไทยยังมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

หัดมองโลกสวยบ้างก็จะดีกับตัวเอง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th