การปฏิรูปพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ที่ใกล้ตัวและมีส่วนเกี่ยวพันกับแทบทุกคนในสังคมเพราะค่าใช้จ่ายของทุกคนในเรื่องพลังงานนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน ที่มี นายพรชัย รุจิประภา เป็น ประธาน ได้สรุปความเห็นและข้อสังเกตในการเสนอแผนปฏิรูปด้านพลังงานเอาไว้ว่า
1.ควรมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการตีความรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 56 และมาตรา 75 เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถกำหนดสัดส่วนการดำเนินกิจการระหว่างรัฐวิสาหกิจและเอกชนในสัดส่วนที่เหมาะสม อันเป็นการป้องกันการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาดของภาคเอกชนอันจะส่งผลต่อราคาและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยให้ดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานคู่ขนานกันไประหว่างระยะเวลาการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้ข้อยุติในประเด็นดังกล่าว ควรมีการปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน แนวทางการกำกับดูแลและแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การกำกับดูแลและบริหารกิจการพลังงานสามารถดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ
2.เนื่องจากกิจกรรมและระยะเวลาดำเนินการในหลายแผนงานในการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานในปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการประกาศบังคับใช้แผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ทำให้อาจมีกรอบระยะเวลาที่จำกัดในการดำเนินการในปีแรก นอกจากนี้ อาจมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงรายละเอียดตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น อาทิ แผนการดำเนินงาน วงเงินงบประมาณ หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือตัวชี้วัดให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะการปรับปรุงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกประเทศ หรือประเด็นที่มีความอ่อนไหว เป็นต้น โดยมีตัวอย่างข้อสังเกตกิจกรรมและรายละเอียดที่อาจมีการปรับปรุงเพิ่มเติม ได้แก่
...
ประเด็นปฏิรูปที่ 7 การพัฒนาอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดหาก๊าซจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนไทย-กัมพูชา ไม่ควรระบุเป็นตัวชี้วัดในแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานประเด็นการปฏิรูปที่ 11 การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟเสรี หน้า 167 หัวข้อที่ 7.8 ให้กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ จัดทำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการให้หน่วยงานราชการสามารถทำสัญญาเช่าโซลาร์รูฟได้ในระยะยาวหลายปี โดยอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาของอาคารราชการ และหน่วยงานราชการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟดังกล่าว และประเด็นปฏิรูปที่ 15 การใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐควรมีการพิจารณาถึงความจำเป็นและรายละเอียดข้อเสนออย่างรอบคอบ รวมทั้งควรมีการกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์อย่างรอบคอบและโปร่งใสเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณภาครัฐ ตลอดจนคำนึงภาระงบประมาณของส่วนราชการในระยะยาว
3.การพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 ควรมีการศึกษารายละเอียดขีดความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ (carrying capacity) และแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อมุ่งสู่นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเชิงนิเวศ โดยนำบทเรียนที่ดีจากต่างประเทศมาประยุกต์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของบริษัท BASF ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นิคมอุตสาหกรรมนิเวศเทียนจิน และเมือง Kitakyushu ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
4.เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีภายใต้การกำกับที่เหมาะสมในตลาดพลังงานและเพื่อรองรับแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าใช้เองของผู้ใช้ไฟฟ้า (Prosumer) ในอนาคต กิจกรรมการศึกษาการปรับปรุงกิจการไฟฟ้าทั้งระบบเพื่อรองรับรูปแบบกิจการไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปในประเด็นปฏิรูปที่ 5 ส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการแข่งขัน ควรกำหนดให้มีการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันเสรีในกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมโยงแนวทางการเพิ่มการแข่งขันทั้งในกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติควบคู่กัน โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานและการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้สอดคล้องกับระยะเวลาสภาพตลาดอย่างเหมาะสม
ยังเหลือการปฏิรูปสังคมคณะเดียวที่มีข้อเสนอยาวเหยียดรอไว้สัปดาห์หน้า.
“ซี.12”