คนไทยในแผ่นดินนี้ ที่มีอายุไม่เกิน 70 ปี พูดได้เต็มปาก เกิดในรัชกาลที่ 9 ครับ

แน่นอน ทุกคนมีเรื่องให้จดจำรำลึก ถึงความโศกาอาดูร ในวันถวายดอกไม้จันทน์ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิง ระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ไหน อย่างไร

เก็บเอาไว้เล่าให้ลูกหลานฟัง

เสร็จงานใหญ่นี้แล้ว ตั้งสติสงบความโศกเศร้านี้ไว้ เพราะทุกชีวิตก็ต้องมีกิจกรรมให้ดำเนินเดินหน้าต่อไป

พี่น้องผองไทยเราอีกหลายสิบจังหวัด ทนระกำลำบากกับภาวะน้ำท่วมมานานแสนนาน

เป็นงานที่เก็บไว้ไม่ได้ จำเป็นต้อง “บอกแขก” ให้รู้กันทั่วๆ

เก็บแรงเอาไว้ ช่วยกันได้แค่ไหน อย่างไร ก็จะต้องช่วยกันต่อ

ผมใช้คำ “บอกแขก” คำโบราณใช้กันในบ้านนอก คนกรุงรุ่งเรืองวิไลซ์ ไม่เคยบอกแขกกันมานานแล้ว

ส.พลายน้อย อธิบายไว้ในสารานุกรม วัฒนธรรมไทย คำว่า “แขก” ไม่ใช่แขกอินเดีย แขกมลายูที่ไหน หมายถึง ใครก็ได้ ที่เป็นผู้มาหาถึงบ้าน

บอกแขก มีความหมายถึงคนบ้านอื่น ที่มาช่วยทำงาน

มีคำกล่าวโบราณ เมื่อเหลือกำลังลาก ให้ออกปากบอกแขกให้แบกหาม

ที่จริง แขกที่ไม่มา อาจไม่มาช่วยแบกช่วยหาม แต่อาจมาช่วยงานอะไรก็ได้ มีชื่อเรียกต่างกันสามอย่าง

1.แขกขอแรง เป็นพวกที่มาช่วยเหลือด้วยความสมัครใจ เช่น ขอร้องให้มาช่วยมุงหลังคาเรือน ตามธรรมเนียม เจ้าของเรือนเพียงแต่จัดอาหารเลี้ยงดูแขกเท่านั้น

ไม่ต้องมีของตอบแทนอะไร

2.แขกลงแรง เป็นพวกที่แลกเปลี่ยนแรงงานกัน เช่น บ้านหนึ่งมาทำงานให้อีกบ้านหนึ่ง เมื่อถึงคราวบ้านแรกทำงาน บ้านที่เคยวานเขามาช่วย ก็ต้องไปช่วยตอบแทน

3.แขกอาสา เป็นแขกพิเศษ ไม่เหมือนแขกสองพวกแรก เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับหนุ่มๆสาวๆที่ชอบพอกัน

ตามธรรมดาหนุ่มที่ไปชอบสาวบ้านใด เมื่อทราบว่าสาวบ้านนั้น จะทำงานการที่ต้องใช้คนมาก ก็เป็นหัวหน้าชักชวนเพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกันไปช่วย

...

ส.พลายน้อยบอกว่า การบอกแขกนั้น บางถิ่น เช่นที่นครศรีธรรมราช เรียกว่า “ออกปาก”

เมื่อต้องการใช้แรงงาน เช่น ไถนา ปักดำ ปลูกข้าว เก็บเกี่ยวข้าว หรืองานอื่นๆ ที่ต้องใช้คนจำนวนมาก ก็ใช้ประเพณีออกปาก คือบอกเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้มาช่วยกัน

ผู้ที่ถูกออกปากก็จะมาช่วยงานด้วยความเต็มใจ และจะเรียกการไปช่วยครั้งนี้ว่า “ไปกินวาน”

เมื่อถูกออกปากให้ไปช่วยทำนา ก็เรียกว่า “ไปกินวานนา” ทำสวนเรียก ไปกินวานสวน หรือ ไปกินวานยกเรือน

คำ “กินวาน” คนภาคกลางฟังดูอาจแปลก แต่ความจริง ก็คือคำที่พูดกันว่า “ไหว้วาน” หมายถึง ขอร้องให้ช่วยเหลือกันนั่นเอง

น้ำท่วมคราวนี้หนักหนาสาหัส แผ่วงกว้างทั้งภาคเหนืออีสานกลางใต้...เห็นที่คนที่ยังมีกำลังเหลือออมไว้ ต้องออกแรงช่วย

จะช่วยแบบแขกขอแรง แขกลงแรง หรือแขกอาสา ที่คนใต้ใช้คำว่า “กินวาน” ก็ได้

ถึงคราวที่เราจะต้องลงทั้งแรงกายและแรงใจ...กำลังของรัฐนั้น ทำเต็มที่อยู่แล้ว แต่สถานการณ์เหมือนที่โบราณว่าเหลือกำลังลาก ต้องออกปากบอกแขกช่วยแบกหามจริงๆ.


กิเลน ประลองเชิง