“อัษฎางค์” มอง การเมืองหลังไร้ตระกูลชินวัตร ต้องดีขึ้น นักการเมืองควรเปลี่ยนทัศนคติ ถือประโยชน์ส่วนรวม ด้าน “วิรัตน์” เชื่อ ยังใช้ชื่อ “ทักษิณ” หาเสียงได้ในภาคเหนือ-อีสาน พร้อมดัน “อภิสิทธิ์” ลงสนามเลือกตั้งเป็นนายกฯ อีกครั้ง

วันนี้ (31 ส.ค. 60) รายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ร่วมพูดคุยกับ รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ถึงการเมืองหลังที่ 2 พี่น้องตระกูลชินวัตร หนีออกนอกประเทศ ว่าจะเป็นไปอย่างไร ในทิศทางไหน

ดร.อัษฎางค์ ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ต่อจากนี้ “ชินวัตร” จะไม่มีทางเป็นหัวหน้าพรรค การจะใช้ชื่อพรรคเพื่อไทยอย่างเดิมเพื่อหาเสียงในสนามเลือกตั้งนั้นอาจเป็นไปได้ เพราะคนคุ้นชินกับชื่อนี้ไปแล้ว ส่วนการจะใช้ชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร กับภาคเหนือและภาคอีสาน ที่เป็นเหมือนฐานแฟนคลับ ก็น่าจะยังคงใช้ได้บ้าง แต่ต้องอย่าลืมว่าประชาชนมีปากมีเสียง มีความคิด เห็นภาพต่างๆ ที่ผ่านมาแล้ว รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ส่วนหนึ่งนี้ก็อาจทำให้คนเปลี่ยนความชอบได้ ส่วนเรื่องการจะสนับสนุนหรือเป็นนายทุนอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำโดยไม่เปิดเผยตัวได้

...

“ชาวบ้านต้องการให้ช่วยเรื่องปากท้อง ต้องทำอย่างไรไม่ให้มีการกินค่าหัวคิวกัน ประชาชนต้องได้รับการช่วยเหลือจริงๆ นักการเมืองต้องเปลี่ยนทัศนคติและปฏิรูป ต้องมองว่าปัญหาของประชาชนคือปัญหาของเรา ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ถ้าให้มองตอนนี้เพื่อไทยอ่อนไปมากแล้ว และกรอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ก็ขีดไว้เพื่อให้คนนอกได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง”

ทั้งนี้ อยากให้เริ่มที่การเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เผื่อที่ คสช. จะสามารถมองเกมได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพื่อดูว่าแต่ละกลุ่มจะดำเนินกิจกรรมอย่างไร เพราะเป็นการแสดงนัยให้เห็นถึงการเลือกตั้งใหญ่ได้ ยืนยันว่า คสช.มีแต่ได้ประโยชน์

ด้าน นายวิรัตน์ กล่าวว่า สนามการเมืองครั้งนี้จะไม่มีนามสกุลชินวัตร แต่ตัว นายทักษิณ จะยังมีบทบาททางการเมืองผ่านพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะหาเสียงง่ายในภาคเหนือและอีสาน สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า เรื่องการหาเสียงต้องเปลี่ยนแน่นอน ต้องเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ พี่น้องประชาชนเห็นด้วย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เอง จะยังคงชู นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงชิงตำแหน่งนายกฯ แน่นอน และจากสังคมปัจจุบัน คงต้องใช้โซเชียลให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย อาจทำให้ได้ฐานเสียงเพิ่มขึ้นจากจุดนี้

อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดให้ต้องเกิดการเลือกตั้ง จะไม่เกิดไม่ได้ และเป็นไปได้ยากมากที่จะเลื่อนจากปลายปี 61 เพราะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน จะทำให้การส่งออกดีขึ้น การจับจ่ายกล้าใช้มากขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมสะพัดขึ้น และหากประชาชนมีปัญหาก็จะสามารถพูดกับผู้แทนได้โดยตรง เพื่อให้ได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด.