ป.ป.ช.แฉข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพุ่งพรวดเผย ปี 59 มียอดเบิกจ่าย 7.1 หมื่นล้าน อึ้งโรงพยาบาลจับมือบริษัทยาทุจริตสารพัดแบบจ่ายยาเกินความจำเป็น จ่ายยาโดยไม่เกี่ยวกับโรคหวังปั่นยอดจำหน่ายยา กินส่วนแบ่งจากเอกชน ชงครม.ตั้งศูนย์ประมวลข้อมูลยา ตรวจสอบทุจริต
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.60 ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า ค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 20,476 ล้านบาท ในปี 2545 เป็น 46,481 ล้านบาท ในปี 2550 และล่าสุดปี 2559 อยู่ที่ 71,016 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาสำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ป.ป.ท.ได้ศึกษามาตรการปรับปรุงระบบการควบคุมการเสนอขายยาการสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิรักษาพยาบาล พบสาเหตุที่ค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการของข้าราชการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมีกระบวนการโยงใยทุจริต 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ 2.กลุ่มสถานพยาบาล 3.กลุ่มบริษัทจำหน่ายยา
นายสรรเสริญ กล่าวว่า รูปแบบพฤติกรรมทุจริตที่พบได้แก่ 1.พฤติกรรมช็อปปิ้งยาของผู้มีสิทธิและเครือญาติทั้งที่เป็นผู้ป่วยหรือไม่มีอาการป่วย ด้วยการตระเวนใช้สิทธิของตนตามโรงพยาบาลต่างๆ หลายๆ แห่งใน ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ขอรับยาเกินความจำเป็นทางการแพทย์ บางรายนำยาที่ได้จากการรักษาไปขายต่อ 2. พฤติกรรมยิงยา คือการจ่ายยาของบุคลากรในสถานพยาบาลโดยทุจริตเช่น จ่ายยาเกินความจำเป็นของผู้ป่วย สั่งจ่ายยาเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวกับโรคผู้ป่วยการบันทึกข้อมูลสั่งจ่ายยาสูงกว่าที่จ่ายจริง การสั่งจ่ายยาโดยไม่มีการรักษา มีเป้าหมายจ่ายยาออกไปมากๆ เพื่อทำยอดจำหน่ายยา เป็นการร่วมกันระหว่างบริษัทจำหน่ายยา สถานพยาบาลและบุคลากรในสถานพยาบาลมีการจ่ายค่าคอมมิชชั่น หรือเปอร์เซ็นต์ยา การเสนอผลประโยชน์ให้จากยอดจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น ตัวเงิน ยาแถมการดูงานต่างประเทศ
...
นายสรรเสริญ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีข้อเสนอแนะต่อ ครม.ใช้เป็นแนวทางป้องกันทุจริตกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ อาทิ การผลักดันยุทธศาสตร์ใช้ยาอย่างสมเหตุผล ของกระทรวงสาธารณสุข ให้บุคลากรทางการแพทย์คำนึงถึงเหตุผลทางวิชาการในการจ่ายยามากกว่าผลประโยชน์จากบริษัทยา การมีศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านยา เชื่อมโยงโรงพยาบาลทุกสังกัด กรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตการกำหนดหลักเกณฑ์จัดซื้อยาเพื่อป้องกันการซื้อยาโดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน โดยนำเกณฑ์จริยธรรมการส่งเสริมการขายยา หลักเกณฑ์ตามมาตรา103/7 และมาตรา 123/5 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เป็นเกณฑ์การจัดซื้อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมการส่งเสริมการขายยาการสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม การให้ภาคเอกชนมีมาตรการป้องกันไม่ให้บุคลากรของตนเสนอประโยชน์แก่บุคลากรรัฐ