สถานการณ์น้ำท่วม 5 อำเภอใน จ.สตูล ยังไม่คลี่คลาย ซ้ำหมู่บ้านชายทะเล ยังถูกคลื่นยักษ์ซัด บ้านเรือนประชาชน-ร้านค้า พังเสียหายกว่า 50 แห่ง

วันที่ 18 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วม 5 อำเภอใน จ.สตูล ยังไม่คลี่คลาย เคราะห์ซ้ำหมู่บ้านชายทะเล 4 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ละงู อ.ท่าแพ และอ.ทุ่งหว้า ถูกคลื่นยักษ์ซัดถล่มทำให้ร้านค้าและบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย

โดยที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล บริเวณชายหาดปากบารา ซึ่งถือเป็นย่านเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญร้านค้าริมชายหาด บ้านพักริมทะเลที่เรียงรายอยู่กว่า 2 กม. ประมาณ 50 แห่ง ถูกคลื่นซัดเข้าไปในร้าน ความสูงของคลื่นที่ซัดเข้ามาท่วมสูงกว่าหลังคา ทำให้ร้านค้าบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายโดยเฉพาะลูกค้าและนักท่องเที่ยว ไม่กล้าเข้าเนื่องจากคลื่นซัดเข้ามาแรงมาก พื้นร้านแตก โต๊ะเก้าอี้ถูกคลื่นซัดระเนระนาด ร้านเสียหายอย่างหนักเกือบทุกร้าน บางร้านน้ำซัดพาซุ้มที่นั่งพังเสียหาย

นายสุมาตรา แซะอาหลี รองนายก อบต.ปากน้ำ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงน้ำทะเลขึ้นสูง ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงมรสุมเข้า ทั้งประมงชายฝั่งและชาวบ้าน รวมทั้งร้านอาหารที่อยู่ริมทะเลได้รับผลกระทบเสียหาย รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร และที่พักเสียหายเกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าปัญหาคลื่นยักษ์ซัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลยังเป็นอยู่เช่นนี้อีก2-3 วัน

...

ส่วนพื้นที่ อ.เมืองบริเวณ ต.ตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล ทั้ง 3 บ้าน ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะหมู่ 1 ซึ่งอยู่บริเวณหัวแหลม ที่คลื่นซัดเข้ามาโดยตรงส่งผลให้เรือที่จอดอยู่ริมเขื่อน และบ้านเรือนราษฎรถูกน้ำซัด เศษกิ่งไม้และขยะมากองอยู่ริมถนน ชาวบ้านต้องออกมาเก็บกวาดอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านบางหลังต้องอพยพไปอยู่บ้านญาติที่ห่างจากฝั่ง เพราะเกรงว่าช่วงกลางคืนจะหนักกว่านี้ และจะอันตรายหากอยู่ในบ้านที่ไม่มั่นคง

นางยามีหละ สหับบิน ชาวบ้าน ม.1 กล่าวว่าเดือดร้อนหนักน้ำซัดบ้าน ออกทะเลไม่ได้ เพราะเป็นน้ำเค็ม เป็นแบบนี้ทุกปี ปีละ3-4 ครั้ง ปีนี้หนักสุด อยากให้เจ้าหน้าที่ทำเขื่อนให้สูงหน่อย เขื่อนที่มีอยู่ต่ำและผุพัง ชาวบ้านขอกันทุกปีแต่ไม่เคยได้ อยากขอถุงยังชีพเพราะเดือดร้อนที่ผ่านมาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ 4 อำเภอติดชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ คือ ต.ปากน้ำ ต.แหลมสน อ.ละงู , ต.สาคร อ.ท่าแพ, ต.ขอนคลาน ต.ทุ่งบุหลัง อ.ทุ่งหว้า และต.ตันหยงโป ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง โดยสภาพคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง จะเป็นช่วงเวลาน้ำคลื่นสูงแรงกระแทกซ้ำๆ อยู่นานประมาณ 3 ชั่วโมงจนกว่าน้ำจะลงความรุนแรงจึงลดลง โดยขณะนี้ชาวประมงเรือเล็กทั้ง 4 อำเภอ พากันจอดหลบลมซึ่งบางแห่งก็ไม่สามารถทานคลื่นลมจมเสียหายไปหลาย.