ก้าวเข้าสู่สองทศวรรษกับ “ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นับแต่เหตุปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส และเหตุความรุนแรงในมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เมื่อต้นปี 2547 กลายเป็นปฐมบทของไฟใต้ยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้
กระทั่งตลอดในช่วง 20 ปีมานี้ “เหตุความรุนแรงสร้างความสูญเสียชีวิตมากกว่า 7 พันคน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1.4หมื่นคน” แล้วภาครัฐต้องทุ่มงบประมาณลงไปดับไฟใต้อย่างมหาศาลกว่า 5 แสนล้านบาท แต่กลับไม่มีแนวโน้มจะนำไปสู่สันติภาพได้ แถมคงสร้างบาดแผลให้กับผู้คนกันเป็นจำนวนมาก
ในวาระวันสันติภาพไทยปี 2567 สถาบันปรีดีพนมยงค์ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 2 ทศวรรษและวิเคราะห์ถอดบทเรียนสู่การแก้ปัญหาในอนาคต โดย ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล บอกว่า
ปัญหาชายแดนภาคใต้ “เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ” หากอ้างอิงจากตัวเลขงบประมาณภาษีที่ถูกนำไปใช้มหาศาลกว่า 5 แสนล้านบาท “แต่กลับยังให้ความสำคัญใส่ใจกับปัญหาพื้นที่น้อยเกินไป” ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเคยให้นักศึกษาคำนวณเงิน 5 แสนล้านบาทนั้นนำมาหาร 20 ปี พบว่าใน 1 วัน มีการใช้งบประมาณ 70ล้านบาท
...
เหตุนี้จึงมานั่งชวนคิดว่า “ทำไมให้ความสนใจปัญหาในประเทศน้อยไป” โดยไม่มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความทุกข์ ความเจ็บปวด และความสูญเสียกับพี่น้องชายแดนใต้ หรือเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นพี่น้องร่วมชาติ ดังนั้นคำว่า “ภราดรภาพในประเทศนี้หายไปไหน...?” สิ่งนี้เป็นเรื่องที่อยากมาชวนคุยกัน
ส่วนตัว “ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้” มาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกด้วยการใช้วิธีลงไปเป็น “ครูอาสาฯ” เพื่อทำความเข้าใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เกิดอะไรขึ้นมา 13 ปี พบว่าปัญหาโครงสร้างความรุนแรงในชายแดนใต้มาจากปัญหาประชาธิปไตยในไทยที่เป็นเงื่อนปมทำให้เกิดความขัดแย้งความรุนแรงที่ชายแดนใต้นั้น
เพราะการที่ “สังคมไทยไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” ทั้งในส่วนกลาง หรือทุกตารางนิ้วไหนในประเทศนี้ก็ตาม “มักทำให้กรอบคิดการมองเห็นคุณค่าของกันและกันได้หายไป” ทำให้เกิดการมองว่าคนในจังหวัดชายแดนใต้เป็นคนชาติพันธุ์ มีศาสนา และมีวัฒนธรรมต่างจากเรานั้นเป็นอื่นไป
เช่นนี้ตลอด 20 ปี “ชายแดนใต้เกิดความรุนแรงกว่า 2หมื่นครั้ง” กลับยังถกเถียงกันนี่เป็นสงครามภายในประเทศ หรือ stateviolence หรือเป็นการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนที่เรียกร้องความเป็นธรรมในประเทศตัวเอง จนไม่สามารถนิยามใดๆขึ้นมาได้ อันมีปัจจัยมาจากความไม่มีเสรีภาพในทางวิชาการ หรือไม่ได้เป็นประชาธิปไตย
กลายเป็นถูกแทรกแซงควบคุมกำกับการใช้ถ้อยคำจาก “รัฐบาล” แม้คำว่าสันติภาพในพื้นที่ก็พูดไม่ได้จนเป็นเรื่องน่าอับอายน่าเศร้าเพราะว่า “สันติภาพถูกพูดกันทั่วโลก” ส่งผลการพูดถึงสันติสุขเป็นแค่เชิงปัจเจกเท่านั้น
ทำให้ต้องกลับไปดูว่า “แต่ละคนมีความสุขอย่างไร” เพราะเราไม่ได้เป็นมนุษย์ที่อยู่ในกอไผ่ หรือไม่ได้เป็นไผ่ต่างปล้องแต่เราเป็นมนุษย์ที่อยู่ในป่าเดียวกัน และอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ฉะนั้นต้องมีความเชื่อมโยงกันในแง่ที่เราเกี่ยวข้อง แม้จะต่างกันได้ก็เป็นดอกไม้แตกต่างหลากหลายที่สวยอยู่ในสวนเดียวกัน
พอเป็นแบบนี้การเก็บสถิติอ้างอิงตามศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้มักถูกฝ่ายความมั่นคงลุกขึ้นปฏิเสธว่า สถิตินี้เชื่อไม่ได้ สิ่งนี้ล้วนมาจากประชาธิปไตยในไทยไม่มีเสรีภาพแท้จริงจนมอง
ไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลายเป็นเพื่อนร่วมชาติ เพราะการขาดความเป็นเอกภาพที่เห็นได้ชัดที่สุดช่วง 20 ปีมานี้
ถ้าหากย้อนกลับไปดู “สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้” ความจริงแล้วเกิดเหตุการณ์มานานกว่า 70 ปีจนบริบทปัจจุบันคนในพื้นที่เริ่มรู้สึกว่านโยบาย และวิธีการจำนวนมหาศาลในการแก้ปัญหาชายแดนใต้จากฝั่งของภาครัฐโดยเฉพาะนโยบายพหุวัฒนธรรมที่พูดกันมาก และทางฝ่ายความมั่นคงนำไปปฏิบัติอยู่นั้น
...
เรื่องนี้ก็อยากชวน “ฝ่ายความมั่นคงมาทำความเข้าใจใหม่” เพราะตอนนี้คนเริ่มรู้สึกมีการแปลงกายของแนวนโยบาย และการปฏิบัติในยุคของการบังคับผสมกลมกลืนที่เรียกว่า “การกลืนกลายในทางวัฒนธรรม” ที่ดำเนินการในวิธีการที่ผิดอย่างเช่นกรณี “ฝ่ายความมั่นคง” พยายามที่จะเข้าไปหาชาวบ้านด้วยชุดเสื้อมลายู
แถมทักทายด้วยคำว่า “อัสซะลามุอะลัยกุม” ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นศาสนิกของอิสลาม ซึ่งลักษณะนี้ในด้านนึงก็เห็นความพยายามน่าชื่นชม “แต่เป็นความพยายามที่ไม่ถูกต้อง” กลายเป็นเรื่องเซนซิทีฟในแง่ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม และไม่ได้เป็นอิสลาม ดังนั้นควรทำความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจใหม่
เพื่อจะชวนคิดต่อว่า “จะทำอะไรร่วมกันให้เกิดสันติภาพ” สิ่งนี้สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษาทำมาตลอดแล้ว “พยายามสื่อสารกับฝ่ายความมั่นคง” ถ้าอยากทำงานด้วยความเข้าใจต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานควบคู่กับต้องเปลี่ยนกรอบคิดในการที่จะมองคนในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย
ยิ่งกว่านั้นหาก “จะสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้จริงๆ” ต้องทำความเข้าใจนิยามสันติภาพใหม่อันเป็นสันติภาพที่แปลว่า “สันติสุข” แล้วอยากให้ช่วยทำความเข้าใจใหม่อีกครั้งว่าสันติภาพในเชิงบวกอันจะเป็นสันติภาพที่ยั่งยืนได้ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น ควรต้องเป็นสันติภาพที่ผู้คนในพื้นที่เขาต้องปราศจากความกลัว
...
ไม่ว่าจะกลัวเดินออกไปไหนแล้วจะถูกจับ หรือกลัวเดินเข้าถึงทรัพยากรการใช้ชีวิตไม่ได้ เพราะในพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ “กลับมีคนที่อดยากมากมาย” ทั้งเด็กขาดสารอาหาร และเด็กต้องอยู่นอกระบบอีกมาก
ย้ำสิ่งนี้ไม่ตรงกับนิยาม “สันติภาพ” เพราะสันติภาพนั้นทุกคนต้องรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีความมั่นอกมั่นใจที่จะแต่งกายชุดอะไรก็ได้แล้วสามารถเดินไปสนทนากันอย่างมนุษย์ โดยไม่ต้องกลัวจะโชว์บัตรถูกตรวจบัตรประชาชน เหล่านี้คือภาพรวมจุดเริ่มต้นของการจะเข้าใจภาพสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ที่อาจต้องกลับมาที่นิยามกันใหม่
นี่เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง “ในการเสริมสร้างสันติภาพชายแดนใต้” เพื่อบรรลุเป้าทางด้านความมั่นคง เสถียรภาพ และสันติภาพโดยเสวนาวิชาการนี้เป็นการถอดบทเรียนในการดำเนินงานด้านความมั่นคง นโยบาย และแผนงานในรอบ 2 ทศวรรษที่มีต่อปัญหาชายแดนใต้...
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม