"นครศรีธรรมราช" พบ "ปลาหมอคางดำ" จำนวนมหาศาล แพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำสาธารณะริมทาง และบ่อบำบัดน้ำเสียที่ปล่อยทิ้งร้าง มูลค่า 600 ล้านบาท ชาวบ้านเผยก่อสร้างมาเกือบ 20 ปี เปิดใช้ได้ไม่นาน ถูกปล่อยทิ้งไม่ทราบสาเหตุ
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบปลาหมอคางดำจำนวนมหาศาล แพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำสาธารณะริมทางเข้าสู่อาคารบำบัดน้ำเสีย โครงการชลประทานน้ำเค็มสำหรับการเลี้ยงกุ้ง บ้านถนนเขต หมู่ 4 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปสำรวจบริเวณดังกล่าว พบว่าเป็นอาคาร 4 หลัง และบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ ส่วนทางเข้าถูกปล่อยรกร้าง ถูกปกคลุมด้วยวัชพืชเต็มไปหมด ภายในอาคารมีท่อขนาดใหญ่ แต่หลงเหลืออยู่เพียงท่อสูบจำนวน 16 ชุด ส่วนมอเตอร์ระบบสูบน้ำไม่มีแล้ว ระบบไฟฟ้าถูกรื้อถอนจนหมด มีการตัดรื้อสายไฟฟ้าแรงสูง และพบร่องรอยการพยายามถอดรั้วกั้นออก ส่วนบริเวณบ่อบำบัดน้ำจำนวน 12 บ่อ พบว่าเต็มไปด้วยปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ ส่วนบ่อพักรอบนอกเต็มไปด้วยลูกปลาชนิดเดียวกัน มีการยืนยันว่าอาคารบำบัดน้ำเสียดังกล่าวเคยใช้สำหรับบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงกุ้ง ก่อนหน้านี้อยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานน้ำเค็ม พื้นที่พัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างเสร็จมาแล้วเกือบ 20 ปี มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท หลังจากเปิดใช้ได้ไม่นานก็ถูกทิ้งร้างไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
...
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า อาคารบำบัดน้ำแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งอาศัยของปลาหมอคางดำจำนวนมาก โดยช่วงแรกน่าจะเป็นทางราชการดูแล หลังจากนั้นเข้าใจว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจึงปล่อยทิ้งร้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้ (22 ส.ค.) ที่ศาลาหมู่บ้าน บ้านเนินหนองหงส์ ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้เดินทางลงพื้นที่มาเป็นประธานกิจกรรมลงแขกคลองครั้งที่ 3 โดยมีทุกภาคส่วนระดมกำลังมาช่วยกันจับปลาหมอคางดำ ทั้งจากสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น และผู้บริหารบริษัท ซีพีเอฟ ในพื้นที่ พร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมกิจกรรมกันอย่างคึกคัก
จากการสอบถาม นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระยะยาวว่า มีมติ ครม.ออกมาแล้ว ทางกรมประมงได้ไปให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับอนุกรรมาธิการฯ แล้ว มีข้อมูลชัดเจนตั้งแต่ปี 2560 ส่วนที่ลึกกว่านั้นมีข้อมูลบางอย่างที่ยังไม่อยากเผยแพร่ เนื่องจากมีผลต่อการดำเนินการในชั้นศาลปกครองกลาง ส่วนข้อสังเกตในการระบาดของปลาหมอคางดำนั้น มีการไปทับซ้อนกับฟาร์มของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งข้อสังเกตมีความหลากหลายและแตกต่างกันไป แต่ภายใต้ข้อสังเกตรับฟังได้ แต่ไม่สามารถนำข้อสังเกตชี้ชัดได้
"กรมประมง เป็นส่วนราชการ หลักกฎหมายให้อำนาจเราทำได้ แต่ถ้าไม่มีอำนาจก็ทำไม่ได้ ในฐานะอธิบดี ตนยังต้องหาข้อเท็จจริง ล่าสุดได้ส่งหนังสือไปยังกานา เพื่อขอชุดข้อมูลดีเอ็นเอ แต่มาถึงตรงนี้เราต้องเดินต่อไปข้างหน้า ต้องดำเนินการตาม 7 มาตรการ เพื่อเร่งแก้ปัญหา" อธิบดีกรมประมง กล่าว.