สุกัญญา สมสวาท ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านลิเภา ต.นาทราย อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เจ้าของผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาถูกนำมาสานเป็นกระเป๋า เครื่องใช้ ที่มีราคาสูงสุด ถึงหลักแสนบาท ที่ถูกนำมาจัดแสดงในงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP หลอมดวงใจ ด้วยพระบารมี” จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เผยว่า ย่านลิเภาหรือลิเภาจัดเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่สามารถทอดเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นได้ยาวหลายเมตร ลำต้นเป็นเหง้าสั้นมีขนสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น ขยายพันธุ์โดยใช้สปอร์และวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด ชอบแสงแดดรำไร พบขึ้นตามป่าทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศ ใบอ่อนและยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ เช่น แกง ผัด ต้ม นึ่ง ลวก หรือนำมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ ต้นสามารถนำมาใช้ทำเชือกได้ เพราะเถามีความเหนียวคงทน หรือนำมาทำเครื่องจักสานต่างๆ เช่น สานตะกร้า กำไล กระเป๋า เครื่องประดับ ฯลฯ

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านลิเภา ก่อตั้งในปี 2556 มีสมาชิกทั้งสิ้น 23 คน ตัวเองถือเป็นรุ่นที่ 2 และมีลูกสาวรับไม้ต่อเป็นรุ่นที่ 3 เดิมแต่โบราณนิยมนำย่านลิเภามาสานเป็นตะกร้าหรือเครื่องจักสานใช้ในครัวเรือน เพราะมีความเหนียว และทนทาน แต่เราพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่านำมาสานและถักเป็นกระเป๋า ตะกร้า เครื่องใช้ต่างๆ ส่วนสนน ราคาก็มีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสน ขึ้นกับของ อะไหล่ที่นำมาประกอบ เช่น บางคนอยากได้สายสะพายกระเป๋าเป็นสายทองคำแท้ หรืออยากได้ ลวดลายที่ทำยาก ต้องสั่งทำเฉพาะ

...

ส่วนกรรมวิธีการทำจะเริ่มจากการหาย่านลิเภาที่มีค่อนข้างมากในป่าดิบชื้น ป่าชุมชน หรือแม้แต่บริเวณชุมชนในภาคใต้ จากนั้นมาปอกเปลือกออก ใน 1 ต้น จะได้เส้นที่นำมาสาน ได้ 4-6 เส้น นำมารูดผ่านรูเล็กๆ ตามกรรมวิธีโบราณ ให้ได้ขนาดเท่ากันตามต้องการ ขูดให้บาง ถ้าต้องการสีขาวให้ใช้ย่านลิเภาอ่อนอายุต่ำกว่า 6 เดือน หากต้องการให้มีสีดำก็ใช้วิธีหมักโคลน ใช้เวลาทำตั้งแต่ 10-60 วัน ขึ้นกับความละเอียดของงาน โดยการใช้เข็มถัก อีกประเภทก็เป็นการขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่แล้วสานเป็นลายต่างๆ ทำให้มีราคาสูงกว่าแบบใช้เข็มถัก.

กรวัฒน์ วีนิล

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่