ผวจ.สงขลา ชี้แจงกรณีถูกบุคคลอ้างเป็นตัวแทนชาวสงขลาเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ดำเนินคดี ม.157 จากปัญหาการรื้อถอนเครื่องมือโพงพางซึ่งเป็นเครื่องมือผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา ยืนยัน ให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน พร้อมหาช่องทางการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


กรณีนายสมโภช โชติชูช่วง อดีตรอง ผวจ.กระบี่ แจ้งความ ม.157 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กรมประมงจังหวัดสงขลา เจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลาและกองกำกับการตำรวจน้ำสงขลา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเนื่องมาจากปัญหาการรื้อถอนเครื่องมือโพงพางซึ่งเป็นเครื่องมือผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา หลังชะลอการรื้อถอนเครื่องมือโพงพางโดยไม่มีกำหนด จากเหตุชาวประมงที่ใช้เครื่องมือโพงพางร่วมกันชุมนุมประท้วงปิดท่าแพขนานยนต์ โดยเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา


ต่อมาวันที่่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุม CEO ศาลากลางจังหวัดสงขลา จากกรณีที่มีบุคคลอ้างเป็นตัวแทนชาวสงขลาเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา กล่าวหา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประมงจังหวัดสงขลา เจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา และตำรวจน้ำ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนชาวจังหวัดสงขลาโดยรวม กรณีการสร้างโพงพางและสิ่งกีดขวาง ตลอดจนการใช้เครื่องมือทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ทะเลสาบสงขลานั้น นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา จึงเชิญสื่อมวลชนเข้ารับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดสงขลาได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนายอำเภอ ประมงจังหวัดสงขลา เจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

...


ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากข่าวที่ออกมา ส่วนตัวไม่ได้กังวลอะไร เพราะที่ผ่านมาทุกภาคส่วนในจังหวัดสงขลาทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างที่เป็นข่าว ตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งก็ได้รับข้อร้องเรียนเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้เชิญส่วนราชการทั้งประมง เจ้าท่า ศรชล. ตำรวจน้ำ ตำรวจ และหน่วยอื่นๆ มาพูดคุยหารือเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เนื่องจากทราบดีว่า อดีตเคยมีการเข้ารื้อถอนโพงพางในทะเลสาบสงขลาไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายโพงพางก็กลับมาเหมือนเดิม และยังเกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันในพื้นที่ ผลการหารือในวันนั้น อัยการจังหวัดแนะนำว่า เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างเป็นระบบ ลดการปะทะ จึงเสนอให้นำปัญหาโพงพางเข้าดำเนินคดีตามกฎหมายทั่วไป คือ ให้ประมงจังหวัด และเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสิน


ต่อมาวันที่่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ประมงจังหวัดสงขลา ได้ออกคำสั่งทางปกครอง ปิดประกาศให้รื้อถอนเครื่องมือประมงโพงพางที่ทำประมงในร่องน้ำทะเลสาบสงขลา แจ้งให้เจ้าของโพงพางทราบ โดยให้ทำการรื้อถอนออกจากร่องน้ำภายใน 15 วัน หลังจากปิดประกาศตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567


จากนั้น นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา เขต 5 ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับชาวประมง โดยขอเวลา 90 วัน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 จังหวัดได้แจ้งให้ประมงจังหวัดพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางประมง ได้ออกคำสั่งชะลอเวลาออกไปเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 แต่การเจรจาก็ไม่เป็นผล ประมงจังหวัดและเจ้าท่าจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสงขลา เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 เพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ลักลอบใช้เครื่องมือประมงโพงพาง ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดตาม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 มาตรา 67 (1) โดยได้นำคำสั่งต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วใช้ในการยื่นประกอบสำนวน จึงชัดเจนว่าเป้าหมายหลักของจังหวัดสงขลา แท้จริงแล้วคือการรื้อถอนประมงผิดกฎหมายออกจากทะเลสาบสงขลา โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย


ถัดมา จังหวัดสงขลาได้ทำหนังสือ จำนวน 7 ฉบับ นำเรียนปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงไปยัง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมประมง และอธิบดีกรมเจ้าท่า เพื่อร่วมพิจารณากำหนดแนวทางการปัญหาเชิงนโยบายให้ครอบคลุมทุกมิติในระยะยาว โดยใจความสำคัญในหนังสือมี 2 ประการ คือ 1) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 2) เพื่อให้พิจารณาช่องทางการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านตามสมควร

วันที่ 25 พ.ค. 2567 ตำรวจน้ำ กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ ได้เข้าบังคับใช้กฎหมายจับกุมชาวประมงโพงพาง 2 ราย ขณะทำการประมงจับสัตว์น้ำด้วยโพงพาง เนื่องด้วยเป็นความผิดซึ่งหน้า โดยอายัดของกลางเรือ 2 ลำ และโพงพางขณะทำการประมงไว้

...


26 พ.ค. 2567 ชาวประมงบ้านหัวเขา รวมตัวปิดท่าแพขนานยนต์ เรียกร้องขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ตนจึงมอบหมายให้นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำเภอสิงหนคร ประมงจังหวัด เจ้าท่าภูมิภาค และตำรวจร่วมตั้งโต๊ะเจรจา ขอให้สลายการชุมนุมเปิดท่าแพขนานยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนส่วนรวม จนเวลาล่วงเลยมาถึงเย็น สภ.สิงหนคร ต้องบังคับใช้กฎหมายประกาศให้สลายการชุมนุมในคืนดังกล่าว โดยหลักๆ ในวันนั้นชาวประมงเรียกร้องขอประกันคน ประกันเรือ 2 ลำที่ถูกจับกุม


เช้าวันที่ 27 พ.ค. 2567 ชาวประมงยอมสลายการชุมนุม เปิดท่าแพขนานยนต์ให้กลับมาให้บริการได้ ยอมส่งตัวแทน จำนวน 20 คน เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเพื่อร่วมหารือทางออก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเองก็ได้ย้ำชัดว่า ในเรื่องคดีส่วนไหนที่ผิดกฎหมายก็ยังคงต้องดำเนินไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่ขอให้มั่นใจว่าจังหวัดจะไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับชาวประมง สำหรับข้อเสนอหลักๆ จากการพูดคุย 1) ชาวประมงขอให้มีการกำหนดเขตร่องน้ำให้ชัดเจน 2) การขอทำเขตประมงพิเศษ ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจังหวัด แต่ก็จะเสนอรัฐบาลให้ ซึ่งเห็นได้ว่าเป้าหมายเดียวของจังหวัดสงขลา คือ การจัดระเบียบทะเลสาบสงขลา ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยปราศจากความรุนแรง แต่เพราะเป็นปัญหาเรื้อรั้งทุกขั้นตอนจึงต้องอาศัยเวลาเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน


นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยังกล่าวอีกว่า ตนเกิดที่จังหวัดสงขลา โตที่จังหวัดสงขลา เป็นคนสงขลาโดยกำเนิด ชีวิตทั้งหมดผูกพันอยู่กับจังหวัดสงขลา ชีวิตการทำงานตั้งแต่สมัยเป็นปลัดอำเภอ เมื่อปี 2531 เรื่อยมา ก็ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชามาโดยตลอด จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งที่ผ่านมาตนทำงานบนพื้นฐานของความถูกต้อง ยึดหลักกฎหมาย ยึดมั่นในระเบียบราชการ ตระหนักถึงการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอมา ในประเด็นนี้จึงขอยืนยันว่า ตนและหน่วยงานในจังหวัดสงขลาที่ถูกกล่าวอ้างไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างแน่นอน. 

...