สำรวจเสาไฟฟ้าส่องสว่างโซลาเซลล์บนถนนสาย 4037 เมืองนครศรีธรรมราช ราคาเสาละกว่า 6 หมื่น เสา 500 ต้นตลอดสาย แบตเตอรี่หายมากกว่า 300 ต้น ป.ป.ช.จ่อเรียกเจ้าของโครงการชี้แจง 


ปัญหาเสาไฟฟ้าโซลาเซลล์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีราคาจัดซื้อจัดจ้างสูงถึงประมาณ 6.5 หมื่นบาทต่อต้น เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบภาค 8 หรือ ป.ป.ช.ภาค 8 กำลังสอบสวนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่เสาไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 2,998 ต้น บนถนน 7 สาย ระยะทางรวม 71.53 กิโลเมตร วงเงินรวม 194,870,000 บาท (หนึ่งร้อยเก้าสิบสี่ล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นบาท) กำลังเสื่อมสภาพแม้จะติดตั้งเมื่อปลายปี 2561 แต่ทยอยชำรุดไปไม่นานจากนั้น จนปัจจุบันมากกว่า 90 เปอร์เซ็นไม่สามารถใช้การได้แล้วและยังประสบปัญหาถูกโจรกรรมอย่างหนักทุกเส้นทาง


ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สำรวจโครงการนี้อีกครั้งโดยเลือกเส้นทางสาย นศ.4037 ระหว่างแยกสารพัดช่างฝั่งตำบลปากพูน ไปจนถึงสะพานท่าซัก ฝั่งตำบลท่าซัก รอยต่อตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช วัดระยะทางจากแผนที่จากจุดต่อจุดได้ประมาณ 7.4 กิโลเมตร มีรหัสประจำเสา เริ่มตั้งแต่ B-001 ไปจนถึงต้นสุดท้ายที่ B-500 ทางสลับซ้ายขวา เท่ากับมีจำนวนเสาถูกติดตั้งทั้งสิ้น 500 ต้นพอดี

...


ตลอดเส้นทางที่มีการสำรวจและบันทึกภาพ พบว่าหลายเสาถูกผลักล้ม บางต้นหายไปทั้งต้น บางต้นยังคงเหลือชิ้นส่วนท่อนล่าง และจำนวนอีกไม่น้อยกว่า 300 ต้นอยู่ในสภาพตู้เก็บแบตเตอรี่เปิด แบตเตอรี่ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเก็บกระแสไฟฟ้าจากแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ตัวแบตเตอรี่สูญหายไปทั้งชุด ไม่สามารถใช้การใดๆ ได้ หลายต้นอยู่ในสภาพเสียหายจากอุบัติเหตุรถชนสุ่มเสี่ยงที่จะโค่นล้ม 


ชาวบ้านตำบลปากพูน เจ้าของสวนปาล์มริมถนนสายนี้บอกว่าแรกๆ ที่ติดตั้งก็ดูสวยดี แต่ไม่นานก็ทยอยดับไปทั้งเส้นเป็นปีๆ มาแล้ว แต่ในทางเทคนิคไม่รู้ว่าใช้ระบบอะไรแต่เพิ่งมารู้ว่าเป็นแสงอาทิตย์และถูกโจรกรรมไปแล้ว แต่ยอมรับว่ามีความสามารถที่ขึ้นไปเอาแบตเตอรี่ลงมาได้จากที่สูงราว 6 เมตร 


ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นข้อมูลจากแหล่งรับซื้อของเก่าหลายแหล่งได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า แบตเตอรี่บนเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์โครงการนี้น่าจะเป็นแบบลิเทียม ราคาขายแบบนำไปใช้ต่อเฉลี่ยราว 1 หมื่นบาทต่อลูก ส่วนคนโจรกรรมไปขายนั้นอาจต้องการขายเร็วแค่ 2-3 พันบาทก็ยอมขายแล้วหรือที่เรียกว่ารอบเร็ว ส่วนแผงเซลล์นั้นมีแหล่งรับซื้อแต่ไม่เป็นที่เปิดเผย เนื่อง

จากอาจถูกจับตา ได้ส่วนใหญ่จะออกไปนอกจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนตัวเสาขายเป็นโลหะรีไซเคิลธรรมดามีแหล่งรับซื้ออยู่ในจังหวัด


อย่างไรก็ตามมีรายงานจากสำนักงาน ป.ป.ช.นครศรีธรรมราช ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบข้อมูลทะเบียนพัสดุ และหน่วยงานเจ้าของซึ่งชัดเจนว่าเป็นสำนักงานปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนงบประมาณนั้นมาจากเงินที่เรียกว่า “งบพัฒนาจังหวัดอุดหนุนเพิ่มเติมเมื่อปี 2560” จากข้อมูลที่ปรากฏขณะนี้จึงมีคำถามถึง การละเลย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแล รักษาทรัพย์สินของทางราชการหรือไม่ โดยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมตรวจสอบชี้แจงในเร็วๆ นี้ 


ส่วนในการดำเนินคดีของ ป.ป.ช. นั้นได้รับสำนวนต่อจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยลงเลขรับที่ 10618 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 มาจนถึงปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช.ภาค 8 ใช้เวลาครบ 2 ปี ไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 สำหรับประเด็นคดีคือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคากลาง การพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจรับพัสดุ ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2540 เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2540 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 162 อันเข้าข่ายการกระทำความผิด ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561.