ผู้ประกอบการยางพาราส่งออกผ่านแดน ร้องถูกหน่วยงานการยางภาครัฐอายัดตรวจสอบ 5 วัน ยันมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร กรมวิชาการ จากต้นทางแล้ว ออกเอกสารให้ถูกต้อง กลับถูกแช่แข็งที่ด่านสะเดา 5 วัน และรอตรวจสอบอีก 3 วัน เสียหายวันละ 2 แสน เชื่อถูกกลั่นแกล้ง


วันที่ 5 ก.พ. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเอกพล อรรถวิเวก เจ้าของบริษัท ดีดี บอรเดอร์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เดินทางมาที่ด่านสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อชี้แจงกับเจ้าหน้าที่การยางและหลายหน่วยงาน หลังรถพ่วงบรรทุกยางพารา ทรานซิสไปประเทศมาเลเซีย จำนวน 5 คันของบริษัท ถูกอายัดตรวจสอบที่ด่านสะเดา 5 วันแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการ เนื่องจากบริษัทให้ดำเนินการทำเอกสารการนำเข้าและส่งออกยางพาราชนิดเครปอย่างถูกต้อง เกรงว่ามีการกลั่นแกล้งร้องเรียนหน่วยงานกี่ยวข้องกับการส่งออกยางพารา ให้มาตรวจสอบสินค้าของตน

  

นายเอกพล กล่าวอีกว่า ยางพาราเครปทั้งหมดมีการตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทำเอกสารถูกต้องอย่างเรียบร้อย ซึ่งทางศุลกากรด่านสะเดาได้อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ แต่มีบางหน่วยงานให้มีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ซึ่งค่าเสียหายในการจอดรถรอวันละ 2 แสนบาท ยางพาราทั้งหมดมีราคาพ่วงละ 1 ล้านบาท รวมกว่า 5 ล้านบาท หากมีความล่าช้าออกไป บริษัทสูญเสียรายได้จำนวนมาก รวมทั้งราคายางอาจจะมีราคาเปลี่ยนแปลงในการรับซื้อในต่างประเทศ 

...

ขณะเดียวกันที่ลานขนถ่ายสินค้าด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เจ้าหน้าที่จากการยางพิเศษแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย นายอนิรุทธ์ สังข์ยวน รักษาการ ผอ.การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา นายพิเชษฐ ยอดใชย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย นายฐิติพงษ์ เพ็งแพง เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร นายเผดิมเดช มั่งคั่ง นายด่านสะเดาและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 รวมเจ้าหน้าที่กว่า 50 คน ได้ทำการตรวจสอบยางพาราของบริษัทที่นำเข้าผ่านแดนไปยังประเทศมาเลเซีย ว่าเป็นยางพาราเถื่อนหรือไม่ ซึ่งถ้าหากเป็นยางเครปก็สามารถส่งออกได้ แต่ถ้าเป็นยางเถื่อน หรือยางพาราของประเทศไทยจะต้องยึด หรือเสียค่าธรรมเนียมให้กับการยางแห่งประเทศไทย กิโลกรัมละ 2 บาท 


จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่การยาง นำก้อนยางพาราลงมาจากรถบรรทุกทั้ง 5 คัน เพื่อทำการตรวจสอบในทางวิชาการ ว่าเป็นยางเครปจากประเทศพม่าหรือไม่ ส่วนของกรมวิชาการเกษตรจะทำการตรวจสอบในเรื่องของเชื้อโรค เมล็ดพันธุ์พืช และสิ่งปนเปื้อน เบื้องต้นใช้เวลาในการตรวจสอบ 3 วัน ถ้าหากตรวจสอบแล้วเป็นไปตามที่ผู้นำเข้าชี้แจงมา ก็สามารถทำการส่งออกได้ตามปกติ

  

นายเอกพล อรรถวิเวก เจ้าของบริษัท เปิดเผยอีกว่า หากมีการร้องเรียน และผู้ประกอบการที่ทำอย่างถูกต้องแล้ว ทำไมถึงได้แช่แข็ง หรือรอการตรวจสอบนานขนาดนี้ บริษัทได้รับความเสียหาย ใครจะต้องรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการจอดนานกว่า 5 วัน “เชื่อว่ามีการกลั่นแกล้งจากขบวนการส่งออกยางพาราเถื่อน มีคนหนุนหลังให้สกัดการส่งออกยางพาราทรานซิสของผม ซึ่งเพิ่งทำเป็นครั้งแรก และทำอย่างถูกต้อง ถือว่าผมไม่ได้รับความเป็นธรรม”

ด้านนายพิเชษฐ ยอดใชย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรให้ตรวจเข้มขบวนค้ายางเถื่อน ที่ทำร้ายเกษตรกรชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นปัญหานี้ ทางการอยากจะรีบตรวจสอบว่ายางทั้งหมดเป็นอย่างเถื่อน หรือยางเครปที่ส่งออกผ่านประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งเบื้องต้นใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 3 วัน  หากผลออกมาไม่เป็นยางพาราที่ต้องห้ามก็สามารถส่งออกได้ ยางทรานซิสไม่ต้องเสียเงินค่าเซฟ กลับกัน หากเป็นยางในประเทศ การส่งออกต้องเสียค่าเซฟกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการได้ผลประโยชน์ เราเองก็ต้องทำอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะให้ผ่านแดนจุดนี้ไป