เมื่อเมษายน 2561 เขียนถึงเรื่อง “เอาปาล์มน้ำมันมาทำผงซักฟอกชีวภาพ” ด้วยตอนนั้น ผู้รู้ในเรื่องการแปรรูปปาล์มน้ำมัน ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านนวัตกรรม ในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้ออกมาเตือน...หากประเทศเรายังยึดติดกับการทำน้ำมันเจียวไข่และไบโอดีเซล อนาคตปาล์มน้ำมันและไบโอดีเซล จะดำดิ่งดับวูบ เพราะตลาดจะตีบตันขึ้นทุกวัน

จากผลกระทบของสหรัฐฯที่ห้ามใช้น้ำมันปาล์มในอาหาร และยุโรปจะห้ามนำเข้าไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน

และยังไม่ทันที่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในบ้านเราจะขยับตัว มีนาคม 2562 ได้เขียนเตือนเรื่อง “พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ออกลายเล่นงานเกษตรกร” เพราะตอนนั้นจะมีการออก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ทำให้การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุ้มไบโอดีเซลจะต้องสะดุดลงในปี 2569

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล
ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล

...

กรกฎาคม 2564 เขียนเรื่อง “จับตามาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ปลิ้นผู้บริโภคเนื้อเกษตรกร” เพราะประเทศไทยจะประกาศบังคับมาตรฐานการปล่อยมลพิษของเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงในระดับยูโร 5 ในวันที่ 1 มกราคม 2567 นี่เป็นอีกมาตรการที่ดับอนาคตไบโอดีเซลและตัดช่องทางทำมาหากินของเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมัน

จนต้องเขียนเรื่อง “กรีนดีเซล ไบโอเจ็ต ทางเลือกทางรอด ปาล์มน้ำมัน” และ ดร.บุรินทร์ ได้ผลักดันให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบที่จะนำน้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นผลิต ภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม 6 ชนิด และ ครม. อนุมัติให้เพิ่มกรีนดีเซลและน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่รัฐจะสนับสนุนให้เกิดขึ้นมาในอุตสาหกรรมของบ้านเรา

เพื่อเตรียมรับมือกับมาตรการ CORSIA ของยุโรปที่จะเก็บภาษีจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่เชื่อไหมว่าตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา การส่งสัญญาณเตือนให้ปรับตัว เหมือนไม่ค่อยมีใครได้ยิน ทุกอย่างยังคงมะงุมมะงาหรากันเหมือนเดิม แทบจะเรียกได้ว่า สายเกินแก้ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมปาล์มและไบโอดีเซลให้อยู่รอด

วันนี้ราคาผลปาล์มแม้จะยังไม่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ราคาได้ร่วงจากที่เคยอยู่ระดับ กก.ละ 10–11 บาท ลงมาอยู่ที่ กก.ละ 5–6 บาท เกษตรกรยังพอยิ้มได้ นั่นไม่ใช่ฝีมือการแก้ปัญหาของภาครัฐแต่อย่างใด หากแต่เป็นอานิสงส์ของเอลนีโญ ภาวะร้อนแล้งทำให้ผลผลิตออกมาน้อย ราคาปาล์มเลยยังดูดี...เอลนีโญผ่านพ้นไปเมื่อไร เกษตรกรสะอื้นแน่

ในภาวะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในการนำปาล์มน้ำมันมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นสูง ขยับตัวไม่ต่างการขับเคลื่อนร่างกายของสลอธ (sloth) ยากที่พี่น้องชาวสวนปาล์มจะฝากอนาคตไว้ได้

...

ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ดร.บุรินทร์ ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในทีม Business Development ของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในวงการเคมีภัณฑ์ระดับโลก ได้ค้นพบการนำปาล์มน้ำมันมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปาล์มน้ำมัน

ที่สำคัญเป็นการแปรรูปในระดับที่ sme และวิสาหกิจชุมชน สามารถทำได้เอง...ผลิตภัณฑ์ที่ว่านั่นคือ ยาขัดรองเท้า ครีมรักษาและทำความสะอาดเครื่องหนัง ครีมบำรุงผิว และครีมกันแดด

จึงขอความร่วมมือจาก ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สนับสนุนงบประมาณ ให้ทีมงานทดลองนำน้ำมันปาล์มมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ง่ายๆ เพื่ออบรมให้ sme และชาวสวนปาล์มฯ

...

“ความจริงแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โรงงานที่รับจ้างผลิตแชมพู เครื่องสำอางทั่วไป ทำกันเป็นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ยังไม่เคยมีใครทดลองเอาปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบมาก่อน เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนแต่ทำมาจากไขปิโตรเลียม เราเพียงแค่เอาไขปาล์มน้ำมันที่มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แทนปิโตรเลียม จะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดได้อย่างไร แถมวิธีการทำก็ง่าย ไม่ต่างอะไรกับทำสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ที่ชาวบ้านทำใช้กันเลย”

ดร.บุรินทร์ บอกอีกว่า หากบ้านเรามีกฎให้ใช้ครีมกันแดดที่ผลิตจากปาล์มน้ำมัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เวลาลงว่ายน้ำปนเปื้อนลงในน้ำทะเล ย่อยสลายได้ ไม่เป็นมลภาวะต่อกุ้งหอยปลาปูน้อยใหญ่และปะการัง...ยิ่งถ้ารัฐบาลหรือ กนป. รับลูกนำไปสานต่อ และขอความร่วมมือให้ท้องถิ่น ออกเทศบัญญัติ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ออกระเบียบให้เขตท่องเที่ยว ชายหาด เขตอุทยานแห่งชาติ ประกาศตนเองเป็นพื้นที่สีเขียวเข้ม ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แถมเคลมคาร์บอนเครดิตได้อีก ตลาดมูลค่านับพันนับหมื่นล้านของผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันแบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องอาศัยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะเกิดขึ้นและขายได้ทันที...SME ของไทยและชาวสวนปาล์มจะอยู่รอด มีรายได้ดีในระยะยาว

...

จึงอยากฝากเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆจากสินค้าเกษตรเหล่านี้ไปยัง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ที่ควบตำแหน่งประธาน กนป., ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ, นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลกรมอุทยาน กรมควบคุมมลพิษ และ นางพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ช่วยคิดทำอะไรที่มองไกลไปสู่อนาคตข้างหน้าด้วยเทอญ.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม