ตำรวจไซเบอร์ขยายผลปฏิบัติการ “Shut Down Stingray” ทลายรังโจร สวมรอยแบงก์กับหน่วยงานรัฐ ส่ง SMS หลอกดูดเงินเหยื่อ สนธิกำลัง ตรวจค้น 4 จังหวัด รวม 5 จุด บุกรวบ 5 หัวโจกระดับสั่งการจัดหาอุปกรณ์เครื่องกระจายสัญญาณ “Stingray” เผยวางแผนแบ่งหน้าที่ทำงาน ส่งทีมงาน ตระเวนออกล่าเหยื่อ ปล่อยสัญญาณส่งลิงก์ปลอมหลอก ติดตั้งแอปฯแล้วดูดเงินเหยื่อเกลี้ยงบัญชี เร่งเค้นสอบ อย่างละเอียดเก็บข้อมูลสาวไปตัวการใหญ่ตัดวงจรหลอกดูดเงิน

ตำรวจบุกรวบ 5 หัวโจกขบวนการส่งข้อความหลอกดูดเงิน เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 ก.ย. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 พร้อมกำลังชุดสืบสวน บช.สอท. เปิดปฏิบัติการล่าเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการระดับสั่งการแก๊งมิจฉาชีพใช้เครื่องสติงเรย์ “Stingray” อุปกรณ์ที่ใช้ส่งข้อความให้กดลิงก์โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน โดยสนธิกำลังเข้าตรวจค้น 4 จังหวัด 5 จุด ประกอบด้วย จ.พัทลุง, จ.จันทบุรี, จ.สระแก้ว และ กทม. พร้อมหมายจับศาลอาญาธนบุรี ที่ จ.711, 712, 713, 714, 715/2566 ลงวันที่ 11 ก.ย.66

...

โดยเข้าจับกุมผู้ต้องหา 5 คน ได้แก่ 1.น.ส.พรรธช์ธนกรณ์ เศวตบุษกร อายุ 47 ปี จับกุมที่ร้านจำหน่ายขนม เลขที่ 28/2 ต.คูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง 2.นายชิษณุพงษ์ ปากปั้น อายุ 22 ปี จับกุมที่หอพักเลขที่ 131 หมู่ 10 ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 3.นายศุภชัย ทองคำมี อายุ 25 ปี จับกุมที่บ้านเลขที่ 95 หมู่ 3 ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 4.น.ส.บุญรอด แก้วมณี อายุ 22 ปี จับกุมที่บ้านเลขที่ 55/5 ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ 5.นายภูริช เทพอยู่ อายุ 30 ปี จับกุมที่บ้านเลขที่ 18/108 ซอยประชาอุทิศ 60 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือและสมุดบัญชีธนาคาร ในฐานความผิดร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ร่วมกันนำ มีใช้นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและเป็นอั้งยี่และหรือซ่องโจร

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการ บก.สอท.3 เปิดยุทธการ “Shut Down Stingray” ทลายรังโจร สวมรอยแบงก์ส่ง SMS หลอกดูดเงินเหยื่อ สามารถจับกุมผู้ต้องหา 6 คน อุปกรณ์เครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) จำนวน 5 เครื่องและรถยนต์ 4 คัน คนร้ายจะนำเครื่องจำลองสถานีฐานใส่ไว้ในรถแล้วขับตระเวนออกไปยังสถานที่ต่างๆในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หากรถแล่นผ่านไปทางใดจะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วส่งข้อความสั้น (SMS) ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน กรมสรรพากร การไฟฟ้า เป็นต้น มีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อเข้าไปกดลิงก์ของคนร้าย ตกเป็นเหยื่อถูกดูดเงินจนหมดเกลี้ยงบัญชี สร้างความเดือดร้อนเสียหาย

ต่อมาเจ้าหน้าที่ขยายผลกลุ่มเครือข่ายจนทราบว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 คน เป็นตัวการระดับสั่งการ ศาลอาญาธนบุรีได้ออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ฐานสั่งการจัดหาชุดอุปกรณ์เครื่องกระจายสัญญาณ โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำงานทางชุดปฏิบัติการ ได้วางแผนเข้าจับกุมในคราวเดียวกันทั้ง 5 จุด เพื่อตัดวงจรของกลุ่มขบวนการหลอกส่งข้อความให้กดลิงก์เพื่อติดตั้งแอปแล้วดูดเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย เบื้องต้นได้สอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 5 คนอย่างละเอียด เพื่อเก็บข้อมูลในการสาวไปยังตัวการใหญ่ ขณะนี้ทราบเบาะแสหมดแล้ว