ม.สวนดุสิต ร่วมกับ ททท.กระบี่ และ คกก.อิสลามกระบี่ จัดฝึกอบรม ผู้ประกอบการฮาลาลพื้นที่ จ.กระบี่ ยกระดับมาตรฐานการบริการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมที่เติบโตสูง หวังเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการ
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 66 ที่โรงแรมริเวอร์ ฟร้อนท์ จ.กระบี่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ ททท.สำนักกระบี่ จัดโครงการอบรมหลักสูตร "การพัฒนากลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานฮาลาล เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มวิถีชีวิตอิสลามในจังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่" โดย นายอะหมาน หมัดอะดัม ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานกระบี่ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามกลางอิสลามฯ และตัวแทนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ เข้าร่วมในพิธีเปิดและร่วมเป็นวิทยากร มีผู้ประกอบการกิจการโรงแรม และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 50 คน
โดย นายวิรัตน์ และเล็ม เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ฮาลาลไม่ได้ใช้เฉพาะมุสลิม แต่ใช้สำหรับมนุษยชาติ เพราะเป็นแนวทางของความสะอาดและการรักษาสุขภาพ การนำเรื่องฮาลาลมาใช้กับการท่องเที่ยว จึงเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจ การสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและประเทศชาติ
...
"ผมเพิ่งกลับจากฮัจย์ ที่มักกะห์ มีมุสลิมจากทั่วโลกเดินทาง ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล ทำให้มองว่าถ้าเราพัฒนาเรื่องฮาลาลจนเป็นที่ยอมรับ จะมีมุสลิมจากทั่วโลกเดินทางมาประเทศไทย" นายวิรัตน์ กล่าว
นายอะหมาน หมัดอะดัม ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานกระบี่ กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลางที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศในยุโรปมีปัญหาเศรษฐกิจจากภาวะสงคราม จีนก็ยังไม่เปิดประเทศอย่างเต็มที่ ดังนั้นกลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง จึงจะกลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก และเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
นายอะหมาน กล่าวต่อว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนั้น หลังเราเปิดความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย คนซาอุฯ เดินทางเข้ามาที่ประเทศไทย ประมาณ 80,000 คน สิ้นปีคาดว่าจะเข้ามา 150,000 คน เป็นตัวเลขที่กระโดดขึ้นมาก รองลงมาคือประเทศคูเวตและโอมาน กลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายต่อทริป 12 วัน ประมาณ 80,000 บาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่มาก โดยไปเที่ยวกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และกระบี่ อยู่อันดับ 4 โดยที่กระบี่นักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ
"การมาของคนกลุ่มนี้ เป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการใช้จ่ายเยอะ ซึ่งดีกว่า นักท่องเที่ยวปริมาณ การพัฒนาฮาลาลจึงมีความสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมเข้ามาสร้างรายได้ให้กับประเทศ" นายอะหมาน กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.จริยะดา จันทรังษี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะเพิ่มศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการท่องเที่ยวตามมาตรฐานวิถีชีวิตอิสลาม ให้เป็นไปตามต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มวิถีชีวิตอิสลาม โดยมีวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้ฝึกอบรม และได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ทุนจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเภทงานมูลฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
...
ผศ.ดร.จริยะดา กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฝึกอบรมฯ มี 4 ประเภท ประกอบด้วย ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักหรือโรงแรม ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว และผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสุขภาพ โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรม จำนวนทั้งสิ้น 50 ท่าน หลังผ่านฝึกอบรมจะทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับแนวทางการจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อให้ได้มาตรฐานฮาลาล การได้มาซึ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล รวมถึงหลักการและกระบวนการขอรับการรับรองฮาลาลผ่านระบบ Mobile E-Learning ดังนั้นเมื่อกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีมาตรฐานในการบริการ เรื่องฮาลาลจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้เพิ่มขึ้น จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้ผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ด้านท่องเที่ยวของประเทศด้วย