นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า สืบเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ ต.บางใบไม้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกมะพร้าวเป็นพืชหลักมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยขาดการดูแลบำรุงรักษา ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ราคาตกต่ำ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จึงเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าว ต.บางใบไม้ เมื่อปี 2562

“ปี 2564 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อมโยงตลาด มีการจัดสร้างโรงเรือน และจัดซื้อเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์สำหรับผลิตขุยและใยมะพร้าว นำไปสู่การใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตสินค้าใหม่ๆสร้างมูลค่าเพิ่มให้กาบมะพร้าว ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปมะพร้าว หลังจากเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด กลุ่มสามารถจำหน่ายมะพร้าวผลได้ในราคาผลละ 14-15 บาท และจำหน่ายในรูปแบบมะพร้าวปอกหยอย ราคาผลละ 25-30 บาท ส่วนกาบมะพร้าวนำไปผ่านกระบวนการแยกขุยแยกใย สามารถผลิตเป็นใยมะพร้าวราคาตันละ 12,000 บาท และขุยมะพร้าว ราคาตันละ 1,000 บาท สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี”

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยอีกว่า ปัจจุบันแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชื่อ บริษัท มะพร้าวแปลงใหญ่บางใบไม้ จำกัด มีสมาชิก จำนวน 33 ราย พื้นที่ปลูกมะพร้าวรวม 309 ไร่ สามารถรวบรวมกาบมะพร้าวของสมาชิกได้เดือนละ 5 ตัน นอกจากนี้ยังมีกาบมะพร้าวของเกษตรรายย่อยอื่นๆ ในพื้นที่อีกเดือนละ 100 ตัน มีการรวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้แก่ล้งมะพร้าว โดยล้งมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการซื้อขายผลผลิตมะพร้าวกับสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี มีการใช้หลักตลาดนำการผลิตวางแผนขยายการผลิตสินค้าแบบใหม่ตามความต้องการของตลาด โดยสินค้าที่ผลิตมาจากกาบมะพร้าวมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีแบรนด์ให้สามารถเข้าสู่ตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ที่กว้างขวางได้ยิ่งขึ้น

...

นอกจากนี้ยังนำหลักการบีซีจีโมเดลมาเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการนำขุยมะพร้าวไปทำดินและปุ๋ยหมักบรรจุใส่ถุงในนามกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ส่วนเส้นใยมะพร้าวนำไปขึ้นรูปอัดเป็นกระถางต้นไม้ และถาดเพาะ รวมถึงอัดก้อนเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ส่วนกะลากนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และเมื่อกลุ่มมีเงินทุนหลังจากปันผลแล้ว เงินก้อนหนึ่งจะนำมาให้สมาชิกในกลุ่มกู้ยืม เพื่อนำไปลงทุนในการปรับปรุงสวนมะพร้าว บำรุงดูแลรักษา เพิ่มผลผลิต กระบวนการนี้ยังช่วยลดปัญหาขยะที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน โดยการนำเศษวัสดุมาแปรรูปจนหมดหรือซีโร่เวสไม่เหลือขยะทิ้งเช่นในอดีต

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ยังได้สนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การทำไวน์ น้ำส้มสายชู และ วุ้นจากน้ำมะพร้าว ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในสวนมะพร้าว เพื่อช่วยในการผสมเกสร และสร้างอาชีพเสริมในสวนมะพร้าว โดยการสนับสนุนรังผึ้งให้แก่เกษตรกร และการฝึกอบรมการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สบู่ และโลชั่น เพื่อสร้างเป็นอาชีพเสริมให้กลุ่มเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป.