นักพัฒนากาแฟโรบัสต้า ชุมพร แนะนำเพื่อนชาวสวนกาแฟถึงวิธีการกำจัด "มอด" ศัตรูตัวร้ายที่เจาะเมล็ดกาแฟต้นเหตุทำเสียคุณภาพ ด้วยวิธีง่ายๆ ลดต้นทุน ได้ผลผลิตสูง กับการใช้ 3 วิธีจัดการ ได้แก่ วางกับดัก นอกเหนือจากใช้สารเคมีอย่างน้ำส้มควันไม้ และเชื้อราเพื่อจัดการมอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดชุมพร นับว่าเป็นแหล่งปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าที่มากที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกกว่า 178,000 ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 24,000 ตัน/ปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 1,500 ล้านบาท โดยกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าที่ปลูกในพื้นที่ จ.ชุมพร ผลผลิตจะมีรสชาติคุณภาพสูง เพราะพื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่ราบมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 700 เมตร และมีระดับอุณหภูมิตั้งแต่ 20-30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟโรบัสต้ามากที่สุด ทำให้ได้กาแฟโรบัสต้าชุมพรมีความเข้มของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
ปัจจุบัน จังหวัดชุมพรมีผู้ประกอบการในท้องถิ่นผลิตกาแฟคั่ว กาแฟสด กาแฟผง กาแฟสำเร็จรูปแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 20 ยี่ห้อ มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้จนสามารถต่อยอดพัฒนาคุณภาพกาแฟออกสู่ตลาดสากลไม่แพ้ยี่ห้อดังระดับโลก
...
นายเขมชัย ฝั้นคำอ้าย และ น.ส.สุภิตา กรรสูต สองสามีภรรยา นักพัฒนานำร่องกาแฟโรบัสต้าภาคใต้ (ชุมพร) และผู้ก่อตั้งโรงคั่วกาแฟอภิเชต และเจ้าของร้าน CRAFT SMITH Coffee Bar ได้บอกเล่าถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ถึงการกำจัดศัตรูตัวร้ายของกาแฟโรบัสต้านั่นก็คือ "ตัวมอด" ที่เจาะผลกาแฟ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการผลิตลดลง กาแฟเสียคุณภาพ โดยกำจัดด้วยวิธีธรรมชาติด้วยวัสดุเหลือใช้ลดต้นทุน สามารถควบคุมและลดการแพร่ระบาดได้ดี
นายเขมชัย เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดชุมพร พบว่าเจอปัญหาเรื่องมอดแมลงค่อนข้างเยอะพอสมควร มอดกาแฟเป็นศัตรูตัวฉกาจอันดับหนึ่งของผู้ปลูกกาแฟทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ทั้งพันธุ์โรบัสต้าและอาราบิก้า ซึ่งมอดจะเจาะผลกาแฟเสียหาย ทำให้กาแฟมีรสขมผิดปกติ กลิ่นก็เปลี่ยนไป มีทั้งกลิ่นอับกลิ่นทึบในแก้วขณะดื่ม สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อกาแฟอย่างมาก ขณะเดียวกันกาแฟเหล่านี้จะถูกคัดเป็นเกรดต่ำ กับดักมอดจึงเป็นตัวแปรสำคัญทำให้กาแฟในปัจจุบันมีผลสูงขึ้นได้
"ปัจจุบันพบการแพร่กระจายของตัวมอดค่อนข้างเยอะในหลายพื้นที่ของจังหวัดชุมพรบางสวนเจอไม่เยอะแต่รุนแรง เช่น มอดเจาะจนพรุนทั้งเม็ด บางราย 1 เม็ดเจาะแค่ครั้งเดียว แต่กระจายทั่วทั้งสวน ซึ่งวิธีการจัดการมอดมีหลายวิธี แต่จำแนกเป็น 3 วิธี ประกอบด้วย กายภาพ(ดัก) เคมีภาพ(น้ำส้มควันไม้) และชีวภาพ(ใช้สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตในการกำจัดมอดแมลงศัตรูพืชโดยใช้เชื้อรา) ขอแนะนำควรใช้ทั้ง 3 วิธีพร้อมกันเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด" ผู้พัฒนากาแฟโรบัสต้า กล่าว
นายเขมชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ขอแนะวิธีการกายภาพ หรือวิธีดักมอด โดยมีสารล่อและแผ่นสีอยู่ด้านในพร้อมด้วยเติมน้ำเพื่อให้มอดแมลงตกน้ำไม่สามารถบินออกมาได้ การทำอุปกรณ์ดักจับมอดจัดเตรียมอุปกรณ์ประกอบด้วย
1.แก้วพลาสติกใสเหลือใช้ นำมาเจาะรูโดยใช้ความร้อน หรือใช้ใบมีดคัตเตอร์กรีดตัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมให้ตัวมอดเข้าไปได้
2.ใช้แผ่นพลาสติกฟิวเจอร์บอร์ดสีแดงและสีเหลือง ตัดเป็นเหลี่ยมประมาณ 2x8 ซม. อย่างละ 1 แผ่น เปรียบเสมือนสีของผลกาแฟ ทำให้มอดแมลงบินเข้าหา
3.นำถุงพลาสติกใสชนิดรูดปิดปากถุงเจาะรู นำถ่านแกลบใส่เข้าไปและเอาสารล่อฉีดใส่เข้าไปประมาณ 5-10 ซีซี เมทิลแอลกอฮอล์และเอทิล ซึ่งสารล่อดังกล่าวแมลงได้กลิ่นเร็วกว่ามนุษย์ หรือนำสารล่อฉีดใส่แผ่นสำลีแทนถ่านแกลบก็ได้เช่นเดียวกัน
...
"หลังจากนั้นใช้ไม้เสียบลูกชิ้นเสียบทั้ง 3 อย่าง แขวนให้ลอยอยู่บริเวณปากแก้ว โดยเติมน้ำผสมน้ำยาล้างจานไว้ก้นแก้ว เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำได้ สุดท้ายปิดด้วยถ้วยพลาสติกใสทรงกลมขนาด 7.5 นิ้ว ป้องกันน้ำฝน เท่านี้ก็ได้กับดักมอดพร้อมใช้งานแล้ว" ผู้พัฒนากาแฟโรบัสต้า กล่าว
นายเขมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการผลิตอุปกรณ์ดักมอด ใช้เงินทุนต่อ 1 อันไม่ถึง 5 บาท ใช้ 4-8 อันต่อ 1 ไร่ ในปีนี้ใช้การจัดการสวนเชิงกายภาพ (ดัก) เชิงเคมีในแบบอินทรี (ป้องกันผลผลิต) และเชิงชีววิธี (กำจัด) หากจัดการครบทั้ง 3 ด้านพร้อมๆ กันสามารถลดความเสี่ยงการระบาดไปได้สูงมาก สำหรับกับดักชนิดดังกล่าวผู้ปลูกกาแฟทางภาคเหนือทำใช้กันอย่างแพร่หลาย สำหรับผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดชุมพรเพิ่งจะเริ่มผลิตขึ้นมาใช้ในพื้นที่เป็นชุดแรกเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
...
ขณะที่สวนกาแฟของ นายสมโภช หรือลุงอู๊ด เสนาะวาที อายุ 69 ปี อยู่ในพื้นที่บ้านหนองเนียน หมู่ 11 ตำบลบางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร ที่นายเขมชัย ฝั้นคำอ้าย และ น.ส.สุภิตา กรรสูต สองสามีภรรยา นักพัฒนานำร่องกาแฟโรบัสต้าภาคใต้ (ชุมพร) ได้ลงพื้นที่สาธิตใหความรู้วิธีการติดตั้งอุปกรณ์ดักจับมอดโดยผูกเชือกแขวนไว้บริเวณกิ่งต้นกาแฟพสายพันธุ์โรบัสต้า
นายสมโภช กล่าวว่า ตนเองปลูกกาแฟตั้งแต่ปี 2561 ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าในสวนกาแฟจะมีมอดเจาะผลกาแฟ และไม่ได้เรียนรู้มาก่อน เพราะเมื่อก่อนปลูกแต่ยางพารา จนมีนายเขมชัยมาแนะนำวิธีการกำจัดมอดเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณของเมล็ดกาแฟ.
...