การส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรบ้านเรามักเจอกับปัญหาเดิมๆ เรื่องระยะทาง ทำให้สินค้าบางชนิดเสียหายก่อนถึงมือผู้บริโภค ขณะที่ฟิล์มห่ออาหารหรือสินค้าก็ทำจากพลาสติก อันจะก่อมลภาวะในอนาคต แต่วันนี้ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พัฒนาแผ่นฟิล์มกินได้ ย่อยสลายได้ โดยใช้โปรตีนไฮโดรไลเซส แถมช่วยยืดอายุอาหารหรือสินค้าได้ยาวนานไม่ต่ำกว่า 4 เดือน
“ด้วยข้อจำกัดด้านระยะทาง ทำให้บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าได้ ขณะที่ฟิล์มที่ใช้ห่อหุ้มอาหารรวมถึงผลไม้ก็ทำจากพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ อันจะก่อให้เกิดมลภาวะในอนาคต ทีมวิจัยจึงได้ร่วมกันพัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิตฟิล์มบริโภคได้ และย่อยสลายได้ สำหรับประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตรและครัวเรือน โดยกำลังพัฒนาความเป็นไปได้ในการใช้เป็นฟิล์มห่อหุ้มอาหารและสินค้าเกษตร เพื่อลดการใช้พลาสติก รวมถึงสูตรและกรรมวิธีการผลิตสารละลายโปรตีนเคลือบผิวสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพในการลดการคายความชื้น และป้องกันการรบกวนของแมลงได้ในระดับหนึ่ง”
...
ดร.ครองศักดา ภัคธนกนก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏ หมู่บ้านจอมบึง บอกถึงผลงานวิจัย “การศึกษาการใช้โปรตีนไฮโดรไลเซส เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของสารเคลือบถนอมอาหารชนิดโปรตีนบริโภคได้”
คณะวิจัยจึงร่วมกันพัฒนาสารเคลือบ และแผ่นฟิล์มชนิดบริโภคและย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ผลิตจากเจลาตินเป็นส่วนผสมหลัก และเติมโปรตีนไฮโดรไลเซสจากหลายแหล่ง อาทิ นม สาหร่าย และกากถั่วเหลือง โดยนำโปรตีนนี้ไปผ่านกระบวนการย่อยให้โมเลกุลมีขนาดเล็กลงด้วยเอนไซม์โปรติเอส แล้วผสมกับกลีเซรอล เพื่อเชื่อมผสานให้เกิดเป็นโพลิเมอร์ โดยต้นแบบที่ได้มี 2 แบบ คือ ของเหลวหนืดเพื่อใช้เคลือบ และแผ่นฟิล์ม
หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายต่อไปว่า การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับแผ่นฟิล์มชนิดบริโภคและย่อยสลายได้ในธรรมชาติส่วนใหญ่ใช้แป้งเป็นส่วนผสมหลัก ด้วยคุณสมบัติของโพลิเมอร์จากแป้ง ทำให้ฟิล์มมีความเหนียวและยืดหยุ่น ขณะที่ฟิล์มจากโปรตีนมีคุณสมบัติด้อยกว่าในทุกแง่มุม แต่งานวิจัยนี้ได้ค้นพบว่า เปปไทน์โปรตีนไฮโดรไลเซส สามารถช่วยเพิ่มการละลาย ทำให้การจัดเรียงโมเลกุลในขณะสร้าง
โพลิเมอร์สมบูรณ์มากขึ้น สารเคลือบมีความหนืด โปร่งใส และยึดเกาะที่ผิวของผลไม้ได้เป็นอย่างดี หากเติมสารเติมแต่งในกระบวนการผลิตพลาสติก และปรับสภาวะการเตรียมที่เหมาะสม จะทำให้ขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มที่มีความยืดหยุ่นสูง
...
สำหรับฟิล์มต้นแบบมีลักษณะใกล้เคียงกับฟิล์มพลาสติกจนแยกไม่ออกด้วยสายตา เมื่อนำไปจำลองสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในห้องปฏิบัติการและในพื้นที่จริง พบว่าสารเคลือบสามารถใช้ฉีดเพื่อปกป้องผิวของผลไม้ที่ต้นได้ดี ส่วนแผ่นฟิล์มนำไปหีบห่อบรรจุผัก ผลไม้สด และผักผลไม้แปรรูปได้ เพื่อปกป้องผลไม้จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแมลง แสง แรงกระแทก และฝุ่นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่เสียสภาพ จึงช่วยถนอมอาหารได้ดี
...
ส่วนแผ่นฟิล์มสามารถรับน้ำหนักและแรงกดทะลุได้มากถึง 4 กก. แม้จะไม่ทนต่อความร้อนจากแดดจัดและน้ำ แต่คุณสมบัติบางประการเหล่านี้เป็นจุดเด่นของวัสดุห่อหุ้มอาหารในยุคของเทคโนโลยีชีวภาพ แผ่นฟิล์มสามารถละลายน้ำได้หมดโดยไม่มีเศษหลงเหลือ สิ่งที่ละลายออกไปเป็นสารประกอบอินทรีย์ทั้งหมด จึงปลอดภัยต่อมนุษย์และระบบนิเวศหากนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง โดยเริ่มต้นจากภาคครัวเรือน ชุมชน และขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรม จะช่วยลดการใช้พลาสติกได้มหาศาล.
กรวัฒน์ วีนิล