พบชิ้นส่วนปริศนาขนาดใหญ่โผล่ที่แหลมตะลุมพุก ชาวบ้านจี้รัฐเร่งหาคำตอบ มีร่องรอยระเบิดฉีกขาดรุนแรง เจอสัญลักษณ์คล้ายธงชาติจีน คาดเป็นชิ้นส่วนแฟริ่งครอบด้านบนของจรวดลองมาร์ชที่ส่งดาวเทียมจีน
เมื่อวันที่ 27 เมษยน 2565 ที่บริเวณหาดแหลมตะลุมพุก หมู่ 1 ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมตะลุมพุก ได้พบกับชิ้นส่วนปริศนา ซึ่งคาดว่าเป็นชิ้นส่วนอากาศยานขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้ได้ถูกเก็บมาไว้ที่ชายหาดในพื้นที่ของ นายประยุทธ ฐานะวัฒนา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมตะลุมพุก
สำหรับชิ้นส่วนนี้พบว่าเป็นโลหะคล้ายอลูมินั่มขนาดหนาประมาณ 2 มม. มีรังผึ้งโลหะเป็นแกนกลาง ผิวด้านนอกมีสีขาวเคลือบคล้ายสีของเครื่องบินโดยสารทั่วไป และมีลักษณะสำคัญแถบพื้นสีแดงพาดทับ มีดาวสีเหลืองทอง 4 ดวง ขนาดกว้างประมาณ 1.20 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร เหมือนธงชาติจีน พื้นผิวภายในไม่ปรากฏตัวเลขอักษร หรือเลขชุดซีเรียลนัมเบอร์ แต่พบร่องรอยฉีกขาดคล้ายกับการฉีกขาดอย่างเร็วและรุนแรง คล้ายกับการระเบิด รวมทั้งมีรอยย่นของโลหะอย่างชัดเจนอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นมีร่องรอยของการอยู่ในทะเล และร่องรอยตัวเพรียงเกาะมายาวนาน
...
นายประยุทธ ฐานะวัฒนา กำนันตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ชิ้นส่วนนี้ถูกพบบนชายหาดหมู่ 1 ตำบลแหลมตะลุมพุก ห่างจากจุดนี้ไปราว 300 เมตร เจ้าหน้าที่ อบต.ได้มาแจ้งและได้นำรถไปบรรทุกมาไว้ตรงนี้ หลังจากนั้นได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ
กำนันตำบลแหลมตะลุมพุก ระบุว่า ชิ้นส่วนนี้คงหนีไม่พ้นว่าเป็นเครื่องบินแน่ แต่เราไม่รู้ว่าเป็นเครื่องบินชนิดใดของใครมาตกในทะเลบริเวณใดก่อนที่จะถูกซัดมาขึ้นฝั่งที่นี่ ดูร่องรอยแล้วน่าจะอยู่ในทะเลมาราว 10 ปี ไม่แน่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบิน MH 370 ที่หายสาบสูญไปหรือไม่ อยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อคลี่คลายปริศนาคาใจนี้ให้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในทะเลปากพนังมีการค้นพบชิ้นส่วนอากาศยานปริศนาขนาดใหญ่แล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง เช่น เมื่อปี 2558 ที่ตำบลบางพระ ต้นปี 2565 ที่ตำบลท่าพญา และล่าสุดที่ตำบลแหลมตะลุมพุก โดยทุกจุดที่พบเจ้าหน้าที่ระบุได้เพียงว่าเป็นชิ้นส่วนอากาศยานขนาดใหญ่ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นของชาติใด แต่การพบครั้งนี้มีสัญลักษณ์สำคัญคือแถบสีและดาว เมื่อพิจารณาแล้วดูคล้ายกับฝาครอบแฟริ่งด้านข้างของส่วนบนจรวดลองมาร์ชของหน่วยงานองค์การอวกาศของจีน ที่ใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ.