วิกฤติโรคระบาดใหม่ที่อุบัติขึ้นสารพัดโรค ทำให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องแบกรับภาระในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น
ด้วยความตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว โรงพยาบาลพัทลุง ภายใต้การบริหารของ นายแพทย์จรุง บุญกาญจน์ ผู้อำนวยการ จึงได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลมาช่วยในการตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุจากกรณีต่างๆ
จุดประสงค์ของการจัดสร้างระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางไกล เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ช่วยลดอัตราความเสี่ยงของคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นการนำร่องในการยกระดับคุณภาพแพทย์ฉุกเฉินในเขตสุขภาพที่ 12
นายแพทย์จรุงกล่าวว่า โรงพยาบาลพัทลุงได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 14 ล้านบาท สร้างศูนย์ปฏิบัติการ ณ ห้องฉุกเฉิน โดยเชื่อมโยงไปยังโรงพยาบาลชุมชนทั่วจังหวัด
ทำให้สามารถทราบสภาพของผู้ป่วยภายในรถฉุกเฉิน จุดที่รถฉุกเฉินกำลังวิ่งผ่าน มีการติดต่อกันทางระบบสื่อสารที่ทันสมัย วิทยุสื่อสาร และโทรศัพท์
ช่วยให้แพทย์ผู้ชำนาญการประจำห้องฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่และพยาบาลภายในรถฉุกเฉินสามารถสื่อการกันได้อย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงอาการของผู้ป่วย ความดัน ชีพจรของคนไข้ตลอดเวลา แพทย์ที่ประจำห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลก็จะสั่งปรับเพิ่มยาฉีดยาได้ทันที
รวมถึงสามารถเตรียมพร้อมที่จะส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูได้ทันท่วงที ช่วยลดขั้นตอน ไม่ต้องรอตรวจประเมินอาการเหมือนเมื่อก่อน
หลังจากเปิดบริการศูนย์ปฏิบัติการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น สามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยอยู่ในขั้นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง
...
ที่สำคัญได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ป่วยและบรรดาญาติๆคนไข้ที่ต่างมีรอยยิ้มเมื่อเห็นคนรักในครอบครัวปลอดภัย.
สุธรรม คงเพชร