สสจ.ยะลา รายงานยอดผู้ติดโควิด-19 สูงต่อเนื่อง พบเพิ่ม 671 ราย รองผู้ว่าฯ ชี้โรงงานสถานประกอบการเริ่มการ์ดตก สั่งยกระดับคุมเข้มคนเข้า-ออกจังหวัด ยืนยันยังไม่มีการปิดเมือง เกรงเตียง รพ.ไม่พอ


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดยะลา ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อ 671 ราย (ติดลำดับท็อปโฟร์ของประเทศ) ติดเชื้อสะสม 19,174 ราย เสียชีวิต 1 ราย เสียชีวิตสะสม 164 ราย รักษาหาย 14,508 ราย ขณะที่ยอดเข้ารับการฉีดวัคซีน ล่าสุด สะสม 244,006 คน คิดเป็น 68.77 เปอร์เซ็นต์ ด้านนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา นายแพทย์อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา ได้ตั้งโต๊ะแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดยะลา ที่พบยอดการติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ยอดที่เพิ่มขึ้นมาจากการตรวจเชิงรุกของสำนักงานสาธารณสุขยะลา ตรวจพบในโรงงานและสถานประกอบการบางส่วน อีกส่วนหนึ่งคือเกิดจากการผ่อนคลายมาตรการของจังหวัดที่เปิดให้ประชาชนได้ทำกิจกรรมทำให้ประชาชนเริ่มการ์ดตก ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของทางราชการกำหนด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ขณะนี้ทางจังหวัดยะลาจึงได้มีคำสั่งออกมาล่าสุดถึงการบังคับและเข้มงวดในการเดินทางเข้า-ออก จังหวัด รวมถึงเข้มงวดการใช้บริการในร้านอาหารของประชน จนนำไปสู่การตรวจ ATK เชิงรุกทั้งในสถานประกอบการรวมถึงสถานที่ราชการ

...

ด้าน นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ปัจจัยการติดเชื้อสูงขึ้นเกิดจาก การพบผู้ป่วยที่เดินเข้ามาตรวจในคลินิกโรคทางเดินหายใจ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาตรวจยังโรงพยาบาลต่างๆ ใน 600 คน พบในสัดส่วน 1 ใน 3 ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่เข้าไปค้นหาเชิงรุกในชุมชน นอกจากนี้มาจากมาตรการผ่อนปรน ที่เปิดให้มีการนั่งทานที่ร้านอาหาร ร้านน้ำชา รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่เกิน 25 คน มาตรการปิดเมือง หรือล็อกดาวน์หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จะทำการปิดในบางพื้นที่ เป็นกลุ่มย่อยๆ หรือเป็นจุดๆ ที่มีการแพร่ระบาดเท่านั้น ยืนยันไม่มีการปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ เพื่อไม่ให้กระทบกับคนหมู่มาก ทั้งนี้ประชาชนต้องอยู่กับโรคให้ได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกคนมีวินัย ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัดแล้วทุกคนก็จะสามารถอยู่กับโควิดได้อย่างปลอดภัย

ส่วน นายแพทย์อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา เปิดเผยว่า เตียงรองรับผู้ป่วย ณ ขณะนี้ จากทั้งหมดกว่า 3,000 เตียง ขณะนี้มีเตียงว่างประมาณ 380 เตียง สิ่งที่ยังเป็นกังวลคือ เมื่อยอดผู้ป่วยสูงต่อเนื่องอาจต้องเปลี่ยนรูปแบบในการครองเตียงของผู้ป่วยติดเชื้อ คือ ผู้ป่วยสีแดง สีเหลือง อยู่ที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยสีเหลืองอ่อน อยู่ที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยสีเขียวอยู่ศูนย์พักคอยชุมชน หรือ CI และบางคนอาจจะต้องอยู่บ้าน หรือ HI แต่ทั้งนี้จะใช้ระบบการสื่อสารผ่านเทเลเน็ตในการดูแล ดังนั้นหากจะเฉลี่ยจำนวนของประชากรในจังหวัดยะลาทั้งกว่า 500,000 คน จะพบผู้ติดเชื้อ 100 คน ต่อ 1 คน และหากยังไม่มีการกักตัว ก็จะเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปอย่างนี้เรื่อยๆ.