ด้วยภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT นำโดย นาย พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการ SACICT ได้ร่วมมือกับศูนย์การเรียนรู้ภายในชุมชน โดยมีครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทช่างศิลปหัตถกรรมของ SACICT เป็นศูนย์กลาง จัดให้สถาบันการศึกษาในชุมชน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เรียนรู้การทอผ้าเพื่อสร้างให้เกิดจิตสำนึกในการดำรงรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยได้ไปตรวจเยี่ยมกิจกรรมนี้ที่ อ.นาโยง จ.ตรัง เมื่อไม่นานนี้

ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า SACICT ได้ลง พื้นที่ อ.นาโยง จ.ตรัง เพื่อพัฒนา ผ้าทอนาหมื่นศรี ต่อยอดยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ให้สามารถตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็เร่งสืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาให้ตกทอดไปยังคนรุ่นใหม่ รวมทั้งมุ่งเน้นการส่งเสริมให้คนในชุมชนทำงานศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างงานและสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์รายใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดผ่านการเป็นสมาชิกของ SACICT พร้อมเพิ่มพูนทักษะในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการบริหารจัดการและทักษะการตลาดดิจิทัลที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่ง SACICT ได้ร่วมมือกับศูนย์การเรียนรู้ภายในชุมชน โดยมีครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทช่างศิลปหัตถกรรมของ SACICT เป็นศูนย์กลางจัดให้ความรู้แก่สถาบันการศึกษาในชุมชน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ผ้าทอท้องถิ่น

...

ด้าน นางลัดดา ชูบัว ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2562 ของ SACICT กล่าวว่า ผ้าทอ นาหมื่นศรีอยู่คู่ชาวตรังมากว่า 200 ปี ซึ่งตนเอง นั้นต้องการสานต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ผ้าทอนาหมื่นศรีของ ครูกุศล นิลลออ ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2554 ของ SACICT ที่เสียชีวิตลงแล้ว แต่คุณค่าและเรื่องราวทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ ว่ากันว่าช่วงชีวิตของสาวตรัง จะมีความเกี่ยวพันกับผ้า 3 ผืนด้วยกัน คือ 1. ผ้าตั้ง หญิงสาวทอไว้ใส่พาน เตรียมสำหรับเจ้าบ่าวในงานแต่งงาน 2.ผ้าห่ม แม่ทอเตรียมไว้สำหรับลูกชายที่จะเป็นเจ้านาคตอนบวช และ 3. ผ้าพานช้าง ย่ายายเตรียมไว้สำหรับตอนที่ตัวเองเสียชีวิต ความเชื่อและศรัทธาอยู่เบื้องหลังผืนผ้าชิ้นงามนี้เองที่ทำให้เกิดอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ผ้าทอ นาหมื่นศรียังขึ้นชื่อว่าเป็นผ้าที่ทอยากมาก โดยเฉพาะลายแก้วชิงดวง ปัจจุบันชาวบ้านเร่งพัฒนาลวดลายใหม่ๆให้ทันสมัยและตอบโจทย์การใช้งานของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

ขณะที่เยาวชนรุ่นใหม่ที่มาร่วมกิจกรรม ต่างบอกว่า พวกตนเป็นลูกหลานในชุมชนนาโยง เห็นย่ายายและแม่ทอผ้านาหมื่นศรีมาตั้งแต่เด็ก ผูกพันเพราะเป็นผ้าที่สวย มีลายแปลกๆ รู้สึกภูมิใจที่เกิดเป็นลูกหลานคนตรัง อยากให้ผ้าสวยๆแบบนี้อยู่กับบ้านเราไปอีกนานๆ.