เกษตรจังหวัดปัตตานี เร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่การเกษตร ที่ถูกน้ำท่วมรวม 11 อำเภอ รวม 35,313 ไร่ พร้อมทั้งพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรแล้ว 120 ครัวเรือน วงเงิน 115,134 บาท

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.64 นายจำเดิม ทองคำ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีที่ประสบปัญหาฝนตกหนักในห้วงเดือนธันวาคม จนถึงปัจจุบัน (13 ม.ค.2564) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยจังหวัดปัตตานีได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (กรณีเหตุอุทกภัย) จำนวน 11 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองปัตตานี โคกโพธิ์ หนองจิก ยะรัง ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี กะพ้อ มายอ ทุ่งยางแดง ไม้แก่น รวมพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ 35,313 ไร่ และเป็นพื้นที่คาดว่าจะเสียหายสิ้นเชิง 5,140 ไร่

สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี สั่งการเกษตรอำเภอมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเร่งรัดประชาสัมพันธ์ และรับแจ้งขอรับการช่วยเหลือ พร้อมทั้งสำรวจพื้นที่ความเสียหายด้านพืชอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรเป็นไปได้อย่างทั่วถึง โดยภาครัฐจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเป็นตัวเงินในลำดับแรกตามระเบียบกระทรวงการคลัง จำแนกเป็นรายพืช ประกอบด้วย ข้าว ในอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ในอัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและพืชอื่นๆ ในอัตราไร่ละ 1,690 บาท ในพื้นที่ไม่เกิน 30 ไร่ต่อครัวเรือน

...

โดยผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจะต้องเป็นเกษตรกรที่ได้มีการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรก่อนวันที่มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (กรณีเหตุอุทกภัย) โดยจะได้รับการช่วยเหลือภายใน 90 วัน นับจากวันที่มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (กรณีเหตุอุทกภัย) โดยข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 2564 มีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือแล้ว จำนวน 120 ครัวเรือนวงเงิน 115,134 บาท รวมถึงจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำฝนดังกล่าวส่งผลให้เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ลุ่ม ส่งผลกระทบกับพื้นที่การเกษตร 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองปัตตานี แม่ลาน สายบุรี หนองจิก กะพ้อ ไม้แก่น ยะรัง ทุ่งยางแดง รวมพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 25,124 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 3,152 ไร่

ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานีได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่มีองค์ความรู้ในการดูแลสวนหลังน้ำลด พร้อมแนะนำวิธีการดูแลรักษาและฟื้นฟูพืชที่ถูกต้องแก่เกษตรกร รวมถึงสนับสนุนพันธุ์พืชผัก เพื่อสร้างแหล่งอาหารภายในครัวเรือน และสร้างรายได้หลังน้ำลด ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยการผลิตอื่นๆ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่เกษตรกรอีกด้วย.