สื่อดังแดนปลาดิบบุกพิสูจน์ “ลิงกัง” ขึ้นเก็บมะพร้าวที่ จ.ชุมพร ชี้เป็นภูมิปัญญาวิถีชีวิตชาวบ้าน คนกับลิงฝึกหัดเรียนรู้ร่วมกัน ไม่มีการบังคับทุบตี มีทั้งความรักความผูกพันเหมือนครอบครัว ชื่นชมควรอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกท้องถิ่น ย้ำชัดไม่ใช่การทารุณกรรมสัตว์ตามที่ “พีต้า” กล่าวหา รองประธานสภาเกษตรกร จ.ประจวบฯ จ่อหารือในที่ประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ 16 ก.ค.นี้ ออกข้อปฏิบัติใช้แรงงานสัตว์ภาคเกษตร หวังสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ

นักข่าวญี่ปุ่นบุกพิสูจน์ให้เห็นกับตา “ลิงกังเก็บมะพร้าว” ทารุณกรรมสัตว์จริงหรือไม่ครั้งนี้ เปิดเผยเมื่อช่วงสายวันที่ 12 ก.ค. นายโตชิฮิสะ โอนิชิ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเกียวโด ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทีมงานและล่าม เดินทางไปยังหมู่บ้านบางมั่น หมู่ 18 ต.นาพญา อ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของลิงกังขึ้นมะพร้าว ที่กำลังกลายเป็นประเด็นปัญหาส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ จากกรณีองค์กรมนุษย์เพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม หรือ PETA (พีต้า) เผยแพร่คลิปวิดีโอรายงานอ้างว่า ในประเทศไทยมีการบังคับให้ลิงกังทำงานเหมือนกับใช้เครื่องจักร ให้ปีนขึ้นไปเก็บมะพร้าววันละนับพันลูก ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในประเทศอังกฤษและยุโรป สั่งระงับการขายกะทิและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเอเชียอยู่ในขณะนี้

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ของสำนักข่าวดังจากประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะเป็นข่าวดังระดับโลกที่ส่งผลต่อผลผลิตมะพร้าวในประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.ชุมพร มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากกว่า 1 แสนไร่ และหมู่บ้านบางมั่น ต.นาพญา เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวแหล่งใหญ่ โดยมีนายเสน่ห์ คงสุวรรณ ประธานชมรมผู้เลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าว จ.ชุมพร นายจินตการ พรหมสุวรรณ รองนายกสมาคมชาวสวนมะพร้าว จ.ชุมพร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้เกี่ยวข้องในท้องที่มาร่วมต้อนรับคณะผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง พร้อมกับให้ถ่ายทำบันทึกภาพการใช้ลิงกังขึ้นมะพร้าว ชีวิตความเป็นอยู่ของลิงกังและเจ้าของ ที่มีความรักความผูกพันระหว่างคนกับลิงกังสืบทอดมาแต่โบราณหลายชั่วอายุคน และให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้เห็นกับสายตาตนเองว่า การเลี้ยงลิงกังไว้ขึ้นมะพร้าว เจ้าของจะเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างดีมากกว่าการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น

นายเสน่ห์ คงสุวรรณ ประธานชมรมผู้เลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าว จ.ชุมพร กล่าวว่า การเลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าวมีมาตั้งแต่โบราณรุ่นปู่ย่าตายาย ปัจจุบันลิงกังไม่ได้จับมาจากป่าธรรมชาติ เพราะเป็นสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ผู้ที่เลี้ยงลิงกังทุกวันนี้ เป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิปการครอบครองลิงกังไว้กับทางราชการก่อนจะมีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นสัตว์คุ้มครอง ลิงกังที่ใช้ขึ้นมะพร้าวจะขยายพันธุ์มาจากพ่อแม่พันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อเติบโตจะนำมาฝึกหัดให้ปั่นลูกมะพร้าวจนชำนาญ รู้หน้าที่ รู้ภาษาที่ใช้สื่อสารกันขณะทำงาน พอมีอายุ 3 ปีขึ้นไป ถึงจะนำไปทำงานขึ้นมะพร้าวได้

“แต่ละวันจะขึ้นมะพร้าวตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. มีพักเที่ยงกินอาหารพร้อมเจ้าของ ปกติลิงกัง 1 ตัวจะขึ้นมะพร้าวได้ประมาณ 300 ลูก บางคนมีลิงกัง 2-3 ตัว จะขึ้นมะพร้าวรวมกันได้มากนับพันลูก เมื่อกลับถึงบ้านจะจัดหาอาหารให้ลิงกังได้กินอย่างดี รวมถึงการสร้างที่อยู่ให้กับลิงกังได้หลับนอนในตอนกลางคืนเพื่อให้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ผู้ที่จะเลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าวใน จ.ชุมพร ทุกคนได้ขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการแล้ว จะมีกฎหมายควบคุมและถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการทรมานทารุณกรรมลิงกังขึ้นมะพร้าว หากถูกทรมานจริงลิงกังจะไม่ยอมขึ้นมะพร้าวให้แน่นอน เพราะมันจะดื้อและต่อต้าน” นายเสน่ห์กล่าว

นายโตชิฮิสะ โอนิชิ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเกียวโด กล่าวผ่านล่ามว่า ที่มาในวันนี้เพื่อจะมาพิสูจน์ความจริงให้เห็นกับตาว่า การฝึกสอนลูกลิงกังให้เก็บลูกมะพร้าว กับการให้ลิงกังทำงานขึ้นมะพร้าว และการเลี้ยงดู รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่หลังลิงกังทำงานขึ้นมะพร้าวแล้วเป็นอย่างไร เท่าที่ได้เห็นและได้สัมผัสนับว่าการฝึกลิงกัง เป็นภูมิปัญญาและวิถีชีวิตดั้งเดิม เพราะลิงกังถูกฝึกหัดเรียนรู้จนรู้หน้าที่ตัวเอง วิ่งขึ้นปั่นลูกมะพร้าวด้วยความชำนาญตามที่ฝึกฝนมา สามารถใช้ภาษาสื่อสารเข้าใจกันได้ ไม่มีการบังคับทุบตี และยังมีความผูกพันความเอื้ออาทรระหว่างคนกับลิงกัง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์ไว้ จะนำเสนอข้อมูลนี้ให้คนทั่วโลกรับรู้ตามที่ได้พบเห็นมาด้วยตาตัวเอง

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายสิงห์ เกิดพันธ์ อายุ 53 ปี เจ้าของลิงกังเก็บมะพร้าว กล่าวว่า การใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวตกทอดกันมาแบบรุ่นสู่รุ่นเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวในพื้นที่ราว 50 ครอบครัว สามารถส่งบุตรหลานเล่าเรียนไม่เดือดร้อนกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ในส่วนขององค์กรพิทักษ์สัตว์ฯที่รณรงค์ไม่ให้ใช้กะทิแปรรูปจากประเทศไทยเนื่องจากใช้ลิงกังเก็บผลมะพร้าวเพราะเป็นการทารุณสัตว์นั้น ยืนยันว่าการเลี้ยงดูลิงกังต้องเลี้ยงอย่างดี มีความสนิทสนมดุจสมาชิกในครอบครัว ลิงกังจะได้กินข้าว 3 มื้อ ทำงานวันละ 6 ชั่วโมง หยุดสัปดาห์ละ 1-2 วัน ชาวสวนมะพร้าวบางสะพานน้อยยังคงจ้างลิงกังเก็บมะพร้าวตามปกติ ไม่นิยมใช้ไม้ต่อกับตะขอเกี่ยวมะพร้าว เนื่องจากแรงกระชากผลมะพร้าวที่มีขั้วเหนียว ส่งผลกระทบต่อส่วนยอดของต้นมะพร้าวที่มีเยื่อเนื้ออ่อน เมื่อเนื้อเยื่อบอบช้ำผลผลิตจะลดลง

...

นายสายชล ชนะภัย รองประธานสภาเกษตรกร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า ราคามะพร้าวตอนนี้มีราคาดี อยู่ที่ผลละประมาณ 14 บาท แต่ขณะนี้เกษตรกรบางรายรู้สึกเป็นกังวล หากตลาดต่างประเทศระงับการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำกะทิจากไทย เพราะอ้างการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทรมานสัตว์ ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะได้หยิบยกกรณีดังกล่าวหารือในที่ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางเสนอภาครัฐ อาจจะมีการขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงลิงกังให้ทราบจำนวนที่ชัดเจน จัดอบรมผู้เลี้ยง ออกข้อปฏิบัติในการใช้แรงงานสัตว์ภาคการเกษตร เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติได้ การใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวยังจำเป็นสำหรับสวนมะพร้าวบางแห่งที่มีต้นมะพร้าวอายุมาก ขนาดความสูง 25 เมตรขึ้นไป เพราะไม่สะดวกในการใช้แรงงานคนสอยมะพร้าว และการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวใน จ.ประจวบฯ มีไม่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมดกว่า 4 แสนไร่