หมอดินอาสาสงขลาแนะวิธีปรับปรุงบำรุงดิน จนพลิกฟื้นจากเสื่อมโทรม กลายเป็นอุดมสมบูรณ์ สู่การทำเกษตรผสมผสาน เผยได้สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ช่วยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน


เมื่อวันที่ 18 พ.ค.63 นายประพันธ์ แซ่เตี้ยว หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หมู่ 3 บ้านแม่เปรี๊ยะ ต.คลองหรัง อ.นาหม่อม จ.สงขลา กล่าวว่า เดิมตนมีความชำนาญด้านช่าง ไม่มีประสบการณ์ด้านการเกษตร แต่มีความสนใจที่จะทำการเกษตรเนื่องจากอยากมีอาหารที่ปลอดภัยให้กับครอบครัว จึงได้เข้ามาศึกษาในเรื่องของดิน การจัดการดินและน้ำ โดยสมัครเป็นหมอดินอาสา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 และเริ่มทำแปลงเกษตรบนพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่นาร้าง ลักษณะเป็นดินทราย มีปัญหาเรื่องขาดน้ำ ดินไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในช่วงฤดูฝน มีน้ำหลากท่วมขัง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงเริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การทำเกษตร

สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ได้เข้ามาแนะนำวิธีต่างๆ ในการปรับปรุงพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการเกษตร เช่น การผลิตปุ๋ยหมักน้ำหมักมูลสัตว์จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 โดยใช้มูลไก่ และเศษพืชในแปลงเกษตร เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน และน้ำหมักชีวภาพ จากสารเร่ง ซุปเปอร์ พด.2 เพื่อเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช ให้กับพืชที่ปลูกผ่านระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ทุก 7-10 วัน นอกจากนี้ยังใช้น้ำหมักพืชสมุนไพรสูตรไล่แมลงจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7

นายประพันธ์ กล่าวว่า พื้นที่การเกษตรของตน จำนวน 2 ไร่ มีปัญหาที่ดิน แต่ได้เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินมาแจก โดโลไมท์ ทำให้ที่ดินเราดีขึ้นมาก เริ่มต้นปลูกเป็นพืชไร่ก่อน ปลูกพร้อมๆ กันแบบหมุนเวียน จนกระทั่งพืชไร่มันก็หมดสภาพไป เลยมีพืชอย่างอื่นขึ้นมาแทน เช่น มะนาว ทุเรียน เสาวรส ซึ่งพืชทั้งหมดอยู่ในนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด สถานีพัฒนาที่ดินจัดอบรมเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องดิน การวิเคราะห์ดิน การหาค่า PH พาไปอบรมด้วยในฐานะที่เราก็เป็นหมอดินหมู่บ้าน พอมีความรู้ ก็นำไปให้ชาวบ้านที่สนใจด้วย เมื่อชาวบ้านประสบความสำเร็จก็ทำให้มีความสุข

...

"จึงอยากขอบคุณสถานีพัฒนาที่ดินที่ให้ความรู้แก่ เกษตรกร และส่งตนไปอบรม ไม่ว่ามีการจัดอบรมที่ไหนก็ให้เป็นตัวแทน ไปอบรม ให้ความรู้อุปกรณ์ พวกปุ๋ยหมัก น้ำหมัก บางครั้งก็ให้เป็นขี้วัวให้เราหมัก ก็ต้องขอขอบคุณอีกครั้งที่ให้ความรู้ และให้ปัจจัยกับเกษตรกร"

นายภัทรชนน ธรรมเจริญ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน กล่าวว่า เจ้าของพื้นที่เป็นหมอดินของสถานีพัฒนาที่ดินสงขลาที่เราได้จัดอบรมทุกปี ปีละครั้ง เสร็จจากการดูงานก็เอาไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ ตามจุดเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ สำหรับการช่วยเหลือ เราจะให้ถัง ให้น้ำหมัก และให้กากน้ำตาลสับปะรด ในการผลิตน้ำหมัก และให้สารปรับปรุงบำรุงดิน โดโลไมท์ในอัตราส่วน 500 กก.ต่อไร่ โดยสอนเป็นกลุ่ม ซึ่งจะมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์อยู่ทุกๆ หมู่บ้าน ผ่านตัวแทนหมอดิน เกษตรกรสาธิตการทำทุกอย่างให้กับเกษตรกรได้เรียนรู้ ได้ฝึกทำจริง เพื่อให้ไปต่อยอดไปทำเองที่บ้าน ส่วนวัตถุดิบที่เหลือ เช่น เศษหญ้า เศษผัก เศษผลไม้ ต่างๆ ก็เอามาผลิตปุ๋ย พวกมูลสัตว์ มูลไก่ ผลิตปุ๋ยใช้เอง ทำให้ลดต้นทุนได้ เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผลไม้ที่บริโภคไม่ได้ ก็เก็บทำปุ๋ยน้ำไว้ใช้ โดยไม่ต้องซื้อมาจากที่อื่น

"การปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินมีสภาพดีขึ้น เพิ่มจุลินทรีย์ในดิน และดินมีช่องว่างในอากาศ ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ดีขึ้นเห็นได้ชัด ดินจะมีสีคล้ำขึ้นและมีจุลินทรีย์เจริญเติบโต พืชที่อยู่ในดิน สัตว์ในดิน เช่นไส้เดือน แมงกะชอนก็มี จากเดิมที่ใช้ปุ๋ยเคมี หน้าดินจะไม่มีสัตว์พวกนี้ พอใช้สารอินทรีย์ ทำให้ดินดีขึ้น ร่วนซุยขึ้นเหมาะแต่การเจริญเติบโตของพืช ผลที่ตามมา ทำให้ต้นทุนการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรต่ำลง การบริโภคของเกษตรกรปลอดภัย รวมทั้งผู้บริโภคที่เกษตรกรนำไปขายที่ตลาดด้วย" นายภัทรชนน กล่าว.